"หอการค้า" แกนนำตั้ง AFC แก้สินค้าเกษตรล้น-ราคาดิ่ง
ภาคเกษตรและอาหารของไทยเป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ 7.8 ล้านครัวเรือน แรงงานภาคเกษตร 12 ล้านคน เป็นสินค้าหลักที่สร้างรายได้ส่งออก 1.5 ล้านล้านบาทต่อปี
แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันภาคเกษตรของประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาความไม่แน่นอนทางด้านรายได้และผลผลิต ส่งผลกระทบต่อภาพรวมในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารในประเทศ ไปจนถึงเกษตรกร แรงงาน ชาวประมง
จึงเป็นที่มาการรวมกลุ่มระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน 28 หน่วยงาน มีพี่ใหญ่อย่าง “สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย” เป็นแม่งาน ประกาศตั้ง ศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร หรือ ศูนย์ AFC (Agriculture and Food Coordination and Public Relations Center) เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ-ล้นตลาด แบบครบวงจร โดยเริ่มทดสอบระบบเมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา
ผนึกกำลัง 28 หน่วยงาน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง ภาคีเครือข่าย 28 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย 12 หน่วยงานภาครัฐ คือ 1.สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2.กรมประมง 3.กรมปศุสัตว์ 4.กรมวิชาการเกษตร 5.กรมส่งเสริมการเกษตร 6.กรมส่งเสริมสหกรณ์ 7.สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 8.กรมการค้าภายใน 9.กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 10.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า 11.สถาบันอาหาร 12.มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
และ 16 องค์กรภาคเอกชน คือ 1.สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย 2.สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย 3.สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย 4.สมาคมเชฟประเทศไทย 5.สมาคมตลาดสดไทย 6.สมาคมผู้ค้าปลีกไทย 7.สมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย 8.สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย 9.สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป 10.สมาคมภัตตาคารไทย 11.สมาคมโรงแรมไทย 12.บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) 13.บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด 14.บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์ จำกัด 15.บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด 16.บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)
ปัจจัยเสี่ยงทุบเกษตร :
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการคนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเกษตรของไทยเจอปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ที่มาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก อาทิ ความผันผวนของสภาพอากาศ ปัญหาภัยแล้ง โรคระบาดในสัตว์บก สัตว์น้ำ รวมไปถึงโรคระบาดในพืช ส่งผลให้สินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ ตลอดจนการแข่งขันในตลาดส่งออกของโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงสูงขึ้น จากกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศที่เป็นอุปสรรค ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผลผลิต และรายได้ของเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“เมื่อสินค้าล้นตลาด ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และกว่าจะรู้ถึงปัญหา ผลกระทบก็ส่งต่อให้กับเกษตรกร ขาดรายได้ และก็ไปร้องเรียนให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาเร่งช่วยเหลือแก้ปัญหา ซึ่งไม่ได้ถูกแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง การลงนามความร่วมมือขับเคลื่อนศูนย์ AFC นี้ จะช่วยแก้ไขวิกฤตของภาคเกษตรและอาหารในภาวะที่สินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำให้เป็นรูปธรรม ตลอดจนพัฒนาแนวทางการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตเกษตรกร รวมทั้งคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตรและอาหาร”
4 บทบาทศูนย์ AFC :
ดร.พจน์กล่าวอีกว่า ศูนย์ AFC มี 4 แนวทางการทำงานหลัก คือ 1.รวบรวมข้อมูลผลผลิตสินค้าเกษตรตามฤดูกาลและจัดส่งข้อมูลให้ศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางและนำมาใช้ข้อมูลร่วมกัน 2.รวบรวมผลวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์สินค้าเกษตร เพื่อเตรียมความพร้อมในการประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรในกรณีที่ล้นตลาดและราคาตกต่ำไปยังผู้แปรรูปและผู้จัดจำหน่ายโดยตรง
3.ส่งเสริมแนวทางยกระดับด้วยการพัฒนาตลาดล่วงหน้าและวิจัย เพื่อแปรรูปสินค้าเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรทั้งห่วงโซ่อุปทาน 4.ประชาสัมพันธ์ภารกิจ และประสานความร่วมมือทั้งในส่วนของหอจังหวัดทั่วประเทศ พาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด เพื่อรับมือปัญหาสินค้าเกษตร
3 สมาคมนำร่อง :
สำหรับการลงนาม MOU ครั้งนี้ มีสมาคมเอกชน 3 สมาคมนำร่อง ประกอบด้วย 1.สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ได้นำร่องความร่วมมือการรับซื้อวัตถุดิบ สัตว์น้ำกลุ่มปลาโอของไทยจากเรือประมงไทย ร่วมกับสมาคมประมงอวนล้อมจับ (ประเทศไทย) สนับสนุนการใช้วัตถุดิบสัตว์น้ำกลุ่มปลาโอ (โอดำ โอลาย และโอหลอด) ที่ได้จากเรือประมงไทยในน่านน้ำไทย โดยสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ได้เตรียมการช่วยรับซื้อสัตว์น้ำกลุ่มปลาโอ (ในช่วงกรกฎาคม-ธันวาคม 2567) 20 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 800 ล้านบาท
2.สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย รับซื้อวัตถุดิบปลาทะเลเพื่อนำไปผลิตเป็นเนื้อปลาบด (ซูริมิ) ที่ได้จากเรือประมงไทยในน่านน้ำไทย โดยจะรับซื้อวัตถุดิบสัตว์น้ำในราคาที่สูงขึ้น 1-2 บาทต่อ กก. 3.สมาคมภัตตาคารไทยร่วมกับสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย ส่งเสริมและยกระดับการบริโภคปลากะพงขาวของไทย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรกระจายสินค้าไปยังสมาชิกสมาคมภัตตาคารไทย และผู้บริโภคโดยตรง
ซื้อปลาโอ 20 ล้าน กก. :
ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย (TTIA/TPFA) กล่าวว่า สมาคมพร้อมสนับสนุนการใช้วัตถุดิบสัตว์น้ำในกลุ่มปลาโอ (ปลาโอดา โอลาย โอหลอด) ที่ได้จากเรือประมงไทยในน่านน้ำไทย เข้าสู่โรงงานปลากระป๋องเพื่อชาวประมงยกระดับราคาสัตว์น้ำในประเทศ และมีรายได้
โดยในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2567 สมาชิกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยยินดีรับซื้อสินค้าปลาโอจากเรือไทยที่เป็นสมาชิกสมาคมอวนล้อมจับ (ประเทศไทย) 382 ลำ ปริมาณรวม 20 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 800 ล้านบาท โดยซื้อเพิ่มขึ้นจากปกติเป็นมูลค่า 520 ล้านบาท หรือ 86% ความร่วมมือนี้จะช่วยกระจายรายได้ให้ชาวประมงไทยทำให้ราคามีความเสถียรภาพ
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขในการร่วมรับซื้อสินค้าสัตว์น้ำกลุ่มปลาโอของไทยครั้งนี้ จะต้องเป็นปลาที่มาจากการจับปราศจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และการควบคุม มีระบบการควบคุมและติดตามเรือที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ มีระบบการจ้างงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามกฎหมายไทย ซึ่งเป็นไปตามแนวทางช่วยเหลือยกระดับราคาสินค้าสัตว์น้ำให้ดีขึ้น และสร้างสมดุลและความเป็นธรรมด้านการค้าในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการหารือและช่วยเหลือกันมาอย่างเต็มที่
นายณุกร ธารีรัตนาวิบูลย์ นายกสมาคมประมงอ้วนล้อมจับ (ประเทศไทย) กล่าวว่า สมาคมได้หารือกับสมาคมทูน่าไทย และกรมประมง ภายใต้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ กลุ่มปลาผิวน้ำมาอย่างต่อเนื่อง โดยขอให้โรงงานช่วยรับซื้อวัตถุดิบปลาจากเรือไทยก่อนอย่างสม่ำเสมอในช่วงราคาปลาโอดำ 45-50 บาทต่อกิโลกรัม ปลาโอลาย 35-40 บาทต่อกิโลกรัม และปลาโอหลอด 30-35 บาทต่อกิโลกรัม เป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ ทั้งสองสมาคมจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสินค้ากลุ่มปลาโอในประเทศเป็นระยะ โดยกรมประมงจะเป็นคนกลางเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมให้กับทั้งสองฝ่าย
ส่งออกประมงยังดี :
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า สถานการณ์ประมงภาพรวมของไทยสามารถจับสัตว์น้ำ 2.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นการจับโดยธรรมชาติ และ 1.4 ล้านตัน มาจากทะเล 1 ล้านตัน มาจากการเพาะเลี้ยง และอีก 1 แสนตัน มาจากน้ำจืด นอกจากนี้การส่งออกประมงของไทยเฉลี่ย 1.6 ล้านตัน/ปี มูลค่ารายได้ที่เกิดขึ้นประมาณ 2.2 แสนล้านบาท
การร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นทิศทางที่ดีที่จะช่วยยกระดับให้สินค้าประมงของไทย เป็นสินค้าเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศในอนาคต
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 4 สิงหาคม 2567