ความท้าทาย "ส่งออกไทย" ครึ่งปีหลัง จับตาปัจจัยเสี่ยงฉุดส่งออกไทยวืดเป้า
ส่งออกไทยครึ่งปีแรกโต 2 % หวังครึ่งปีหลังขับเคลื่อนต่อเนื่อง สู่เป้าหมายทั้งปี ขยายตัว 2 % จับตาปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามอิสราเอล-ฮามาส เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ปัจจัยเสี่ยงฉุดส่งออกไทยวืดเป้า
“การส่งออก” ของไทยในเดือน มิ.ย.67 กลับมาติดลบ 0.3 % มูลค่า 24,796 ล้านดอลลาร์ หลังจากเป็นบวก 2 เดือนติดต่อกัน โดยสาเหตุหลักมาจากสินค้าผลไม้เข้าสู่ช่วงท้ายฤดูกาล ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง รถยนต์สันดาปลดลง แต่หากดูภาพรวมการส่งออก 6 เดือนหรือครึ่งปีแรกของปี 67 ยังขยายตัวได้ 2 % มูลค่า 145,290 ล้านดอลลาร์ ถือว่าทำได้ดี ท่ามกลางปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี โดยเฉพาะปัญหาค่าระวางเรือที่กลับพุ่งสูง 3-4 เท่า อีกครั้งจากปัญหาทะเลแดง
สำหรับการส่งออกในครึ่งปีหลังกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชน ยังมีความมั่นใจว่า การส่งออกของไทยยังขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสามารถทำให้การส่งออกไทยทั้งปีเป็นไปตามเป้าหมายที่ 2 % โดยช่วงที่เหลือส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ22,973ล้านดอลลาร์ ก็โตได้ 1% แล้ว แต่ถ้าได้ถึงเดือนละ 24,248 ล้านดอลลาร์ ก็จะโตได้ 2%
อย่างไรก็ตามการส่งออกในครึ่งปีหลังยังคงมีอุปสรรคท้าทายรออยู่ข้างหน้า แม้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3.2%ส่งผลให้กำลังซื้อ และความต้องการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร รวมทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลที่สนับสนุนความต้องการของสินค้า ซึ่งในช่วงที่เหลือ 6 เดือน การส่งออกของไทยจะเป็นอย่างไรยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเฝ้าติดตาม
ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ยังเป็นความเสี่ยงต่อการค้าโลกและการส่งออกของไทย ยังคงเป็นเรื่องของ “ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์” ที่ยังคงยืดเยื้อแต่ไม่ได้ขยายวงกว้างในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ล่าสุดเหตุการณ์หัวหน้ากลุ่มฮามาส ถูกลอบสังหารอาจทำให้สงครามอิสราเอล-ฮามาส ถูกยกระดับสู่ความรุนแรงและอาจลามขยายวงกว้างไปทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางได้ แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และการค้าของประเทศไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่น ที่เห็นชัดคือ ปัญหาค่าระวางเรือสูงอาจจะกลับมาอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง
รวมทั้งยังต้องจับตาการ “เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ” ซึ่งจะเป็นตัวกุมทิศทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก เพราะสหรัฐเป็นมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลก โดยสหรัฐฯ มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มูลค่า 27.36 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2566 คิดเป็นสัดส่วน 25.95 % ของ GDP โลก และมีรายได้ต่อหัวสูงถึง 81,695.2 ดอลลาร์
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ไม่ว่าใคร พรรคไหน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ การลงทุนและการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะไทย เพราะสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย รองจากจีน ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกของไทยไปสหรัฐขยายตัวถึง 11.2 %
นอกจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯแล้วยังต้องจับตาการเลือกตั้งในหลายประเทศที่สร้างความไม่แน่นอนทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อรอท่าทีนโยบายของรัฐบาลใหม่ด้วย และยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจคู่ค้าในบางประเทศที่ฟื้นตัวค่อนข้างล่าช้า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน การตั้งกำแพงภาษีสินค้าระหว่างกันและชาติพันธมิตร อาจส่งผลกระทบต่อระบบการค้าโลกรวมถึงการค้าระหว่างของไทย
จากปัจจัยเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจการค้าโลกในครึ่งปีหลัง ยังมีทิศทางและโมเมนตัมที่ไม่แน่นอนสูง ดังนั้น “ส่งออก”ไทยในครึ่งปีหลังยังคงน่าห่วง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนจะต้องจับมือร่วมกันผ่าทางตันพาส่งออกไทยสู่เป้าหมายขยายตัวทั้งปี 2 %
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 5 สิงหาคม 2567