"แบล็กมันเดย์" "หุ้นดิ่ง" ทั่วโลก!!
เป็นปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เมื่อวานนี้ (5 ส.ค.67 ) ตลาดหุ้นทั้งโลกพร้อมใจกันร่วงระนาวกราวรูด ด้วยเหตุผลความวิตกของเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังถดถอย
ไม่เว้นแม้แต่ตลาดหุ้นไทยก็ร่วงกระหน่ำซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ไม่ดีอยู่แล้ว ให้ยิ่งน่ากังวลเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อวานเขาเรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า แบล็กมันเดย์ (Black Monday) หรือ วันจันทร์ทมิฬ ซึ่งเคยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 37 ปีที่แล้วที่หุ้นทั้งโลกพร้อมใจกันร่วง คิดเป็นมูลค่ามหาศาลในเวลาอันสั้นลุกลามไปทั่วทั้ง ยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย
ปรากฏการณ์ Black Monday กลับมาหลอกหลอนโลกเศรษฐกิจการลงทุนอีกครั้ง วานนี้ ดัชนีนิกเคอิ 225 ตลาดหุ้นโตเกียว ปิดตลาดที่ระดับ 31,458.42 จุด ร่วงลง 4,451.28 จุด หรือ -12.40% นับว่าร่วงหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ หากนับในแง่เปอร์เซ็นต์ถือเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 37 ปี หรือตั้งแต่ปี 2530 กับเหตุการณ์ Black Monday ครั้งนั้นดัชนีนิกเคอิร่วงลงวันเดียว 14.9% หรือลดลง 3,836.48 จุด
แรงเทขายอย่างหนักในตลาดหุ้นญี่ปุ่น และในหลายประเทศทั่วเอเชีย มาจากความกังวลของตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐ เดือนก.ค.ที่เปิดออกมาต่ำกว่าคาด อัตราการว่างงานสูง การจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นต่ำกว่าคาดการณ์ มีสัญญาณที่บ่งบอกว่า เศรษฐกิจสหรัฐเดินเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้ม “ขึ้นดอกเบี้ย” เพิ่มเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแบงก์ชาติญี่ปุ่นขึ้นดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 0.25% ส่งผลให้ตลาดหุ้นโตเกียวร่วงแรงกว่าที่อื่น
เช่นเดียวกับตลาดหุ้นยุโรปที่วานนี้ เปิดตลาดร่วงลงกว่า 2.5% ดัชนี Stoxx 600 ปรับตัวลดลง 2.34% ณ เวลา 08:52 น. ตามเวลาลอนดอน ทุกภาคส่วน และตลาดหลักในภูมิภาคต่างซื้อขายในแดนลบ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีลดลงมากถึง 5% ในช่วงเปิดตลาด ก่อนที่จะล่วงลงมาอยู่ที่ -2.8% นำโดยหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ลดลง 3.65% ขณะที่หุ้นธนาคารลดลง 3.22% เรียกว่าผันผวนดำดิ่งกันแบบจริงจัง
ท่ามกลางความผันผวนของโลกในทุกมิติ ระบบเศรษฐกิจทุกประเทศสั่นคลอน รวมถึงสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดสงครามปะทุขึ้นอีกเมื่อไหร่ เป็นเรื่องที่รัฐบาลทุกประเทศต้องเตรียมแผนรับมือ สำหรับประเทศไทยเศรษฐกิจเราแย่อยู่แล้ว ผสมโรงกับปัจจัยภายนอกที่เข้ามาปะทะตรงๆ ปัจจัยลบในประเทศเรามีเยอะมากทั้งหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ เสถียรภาพการเมืองก็อ่อนแอ
ที่ผ่านมาเรา “สอบตก” เรื่องมาตรการแก้ปัญหาที่ไม่ตอบโจทย์ แผนรับมือปัจจัยภายนอกที่ถาโถมเข้ามาก็ไม่มีให้เห็นเป็นรูปธรรม การปรับตัวรับเรื่องใหม่ๆ ก็ช้า ขนาด “ทุนจีน” ไหลบ่าเข้ามาแย่งตลาด แย่งที่ทำมาหากินของคนไทย ยังต้องรอการขยับตัวของรัฐบาลว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ประเทศไทยช่วงนี้เลยดูมืดมนและไร้ทิศทาง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 6 สิงหาคม 2567