พณ.ถก 8 หน่วยงานรัฐ แก้ทุนนอกดัมพ์ตลาดไทย ประเดิมเช็กสินค้านำเข้า 10 อันดับแรก
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐานและราคาถูก ซึ่งทะลักเข้ามาในประเทศจำนวนมากผ่านอีคอมเมิร์ชและด่านต่างๆ เนื่องจากรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากรูปแบบการค้าเดิม ที่เคยมีลักษณะการสั่งสินค้าจากโรงงานมาขายผ่านผู้ค้าส่งและค้าปลีกในประเทศ ทั้งยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ก่อนขายปลีกให้ผู้บริโภค แต่ปัจจุบันรูปแบบการค้าใหม่กลายเป็นโรงงานขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และส่งตรงถึงผู้บริโภค
นายวุฒิไกรกล่าวว่า รูปแบบธุรกิจใหม่นี้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อ value chains ทั้งหมดของไทยอาจทำให้เกิดผลกระทบทั้งผู้ประกอบการไทยรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ประชุมหารือร่วมกับ 8 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร กรมสรรพากร) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กระทรวงสาธารณสุข (องค์การอาหารและยา หรือ อย.) คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนรูปแบบการค้าใหม่อย่างรวดเร็วทำให้กฎหมายที่มีอยู่อาจจะไม่ทันสถานการณ์
นายวุฒิไกรกล่าวว่า ภาครัฐจะมีมาตรการออกมาดูแลสินค้านำเข้าที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทย โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ โดยจะเข้มงวดเรื่องมาตรฐานสินค้านำเข้าที่ต้องผ่านการรับรองเรื่องความปลอดภัยของอาหารและสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็นการค้า offline และ online เนื่องจากในการสุ่มตรวจเบื้องต้นของสินค้านำเข้าที่ขายในไทย พบว่ามีคนขายบางคนไม่ใช่คนไทย และบางคนไม่มีวีซ่า ไม่มีใบอนุญาตแรงงาน ไม่มีการจดทะเบียนพาณิชย์ หรือนิติบุคคล ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จะทำงานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบกระจายทั่วกรุงเทพ ภายใน 1-2 วันจากนี้ หากพบมีการกระทำผิดกฎหมายจะดำเนินคดีภายใต้กฎหมายของแต่ละหน่วยงานอย่างเข้มข้น
“รวมทั้งขอความร่วมมือกับกรมศุลกากรเร่งส่งข้อมูลรายการสินค้านำเข้า 10 รายการแรกโดยเร็วที่สุด เพื่อดูว่ามีรายการใดเป็นสินค้าจำเป็นหรือเป็นวัตถุดิบการผลิต หรือเพื่อการบริโภคอย่างเดียว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาออกมาตรการต่อไป” นายวุฒิไกรกล่าว
นายวุฒิไกรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูกฎหมายที่สามารถบังคับให้การจำหน่ายสินค้าออนไลน์จะต้องมีสำนักงานตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่ตั้งในประเทศไทยได้หรือไม่ เบื้องต้น ทราบข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ว่ามีกฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ทุกประเภทต้องมาจดแจ้งให้ทราบภายใต้พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล พ.ศ.2565 มาตรา 18 วงเล็บ 2 และ 3 ที่สามารถดูแลครอบคลุมแพลตฟอร์มดิจิทัล
ปลัด พณ.เผยว่า ขณะนี้กำลังดูว่าหากแพลตฟอร์มดิจิทัลดังกล่าวมีลูกค้าในไทย และมีการทำธุรกรรมทางทางการเงินออนไลน์ผ่านกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (electronic transaction) ในไทย แม้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนั้นไม่ได้ตั้งอยู่ในไทย น่าจะมีการออกมาตรการมาดูแลได้ เพราะในกฎหมายระบุว่า หากบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลใดมีลักษณะเฉพาะ และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ ความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสาธารณชน และมีผลกระทบในระดับสูง อาจเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจของแพลตฟอร์มนั้น จะสามารถใช้กฎหมายนี้เข้ามาดูแลได้ สำหรับมาตรการจะออกมาจะเป็นการดูแลผลกระทบในระยะสั้นและระยะกลางก่อน เน้นการบังคับใช้กฎหมายให้รัดกุมมากขึ้น ส่วนการดูปัญหาระยะยาวต้องหารือกันต่อไป
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 8 สิงหาคม 2567