พาณิชย์จ่อใช้โมเดลจีน สกัดสินค้าราคาถูก จำกัดปริมาณ - มูลค่า สั่งซื้อสินค้า
โฆษกรัฐบาลเผย ครม.ถกรับมือสินค้าถูกตีตลาดไทย เผย "พาณิชย์" พิจารณาใช้โมเดลจีน สกัดสินค้าราคาถูก จำกัดปริมาณ - มูลค่า สั่งซื้อสินค้า เข้มจดทะเบียนธุรกิจถูกต้อง นายกฯ สั่งให้ "พาณิชย์" ร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการรับมือให้ได้ในเดือนนี้
จากผลกระทบในเรื่องสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยทำให้ผู้ประกอบการในประเทศได้รับผลกระทบ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (13 ส.ค.67)
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาตรการป้องกันและปราบปรามธุรกิจขายสินค้าจากต่างประเทศ ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ที่นำเข้ามาขายในประเทศไทย
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.ได้หารือกันถึงเรื่องนี้ โดยนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการ และให้หามาตรการมารับมือ และรายงานให้ ครม.ทราบภายในเดือนส.ค.นี้ ซึ่งต้องเป็นมาตรการที่เหมาะสมไม่ส่งผลกระทบกับการค้า และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และไม่ขัดกับหลักการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO) รวมทั้งดูแลผลประโยชน์ของผู้บริโภค และผู้ประกอบการอย่างสมดุล รวมทั้งหาทางสนับสนุน และพัฒนาให้ผู้ประกอบการ SME ไทยสามารถปรับตัวและแข่งขันได้
“เมื่อนายกรัฐมนตรีสั่งการในเรื่องนี้แล้วทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งปฏิบัติตาม”โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
นอกจากนี้จากการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้มีการพิจารณามาตรการที่อาจจะมีการนำมาใช้ซึ่งเป็นมาตรการเดียวกันกับที่จีนใช้ในประเทศโดยจีนแก้ไขปัญหาการค้าขายผ่านอี-คอมเมิร์ซของประเทศจีนเองซึ่งไทยเองก็กำลังพิจารณาว่าอาจจะนำมาใช้บ้างแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปแต่ว่ามีแนวทางที่สามารถพิจารณาอยู่ ได้แก่
1.การนำเข้าสินค้าผ่านออนไลน์เข้ามาขายยังประเทศจีน ต้องขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง
2.การนำเข้าสินค้ามานั้น จะมีมาตรการจำกัดจำนวนสินค้าที่จะนำเข้าต่อคนต่อปีว่าได้กี่ชิ้น
3.การนำเข้าสินค้ามานั้น จะมีมาตรการจำกัดมูลค่าของสินค้าออนไลน์
สำหรับแนวทางจากรัฐบาลมาตรการที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรม ได้แก่
1.การตรวจสอบการจดทะเบียนธุรกิจการค้า และใบอนุญาตต่างๆ เพื่อดำเนินการกับธุรกิจผิดกฎหมายหรือสีเทาจากต่างประเทศ
2.การตรวจสอบสินค้าว่าเป็นไปตามมาตรฐาน เช่น มอก. และ อย. เพื่อปกป้องผู้บริโภค โดยสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเจ้าภาพ ประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
3.การตรวจสอบใบอนุญาตนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และการชำระอากรขาเข้าของผู้ประกอบการ
4.การตรวจสอบใบอนุญาตการตั้งโรงงาน โดยกรมโรงงาน เป็นต้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 13 สิงหาคม 2567