เทียบฟอร์มเศรษฐกิจอาเซียน จีดีพีเพื่อนบ้านโตไว ไทยจะโตเท่าไหร่?
ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2024 ประเทศเศรษฐกิจหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ "อาเซียน" ประกาศตัวเลขอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 2024 ออกมาหมดแล้ว ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เหลือเพียงไทยเท่านั้นที่ยังไม่ประกาศ
อย่างไรก็ตาม นับจากวันที่ 16 สิงหาฯ ไปอีกแค่ไม่กี่วัน ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยก็จะถูกเปิดเผยแล้ว โดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” มีกำหนดการจะประกาศในวันที่ 19 สิงหาคมนี้
ก่อนที่เราจะได้ทราบตัวเลขอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ในจังหวะนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ชวนมาดูว่าประเทศเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคของไทย เศรษฐกิจเติบโตกันไปเท่าไหร่
เวียดนามโตเร็วกว่าใคร 6.93% :
เวียดนามครองแชมป์ประเทศที่จีดีพีไตรมาส 2 ปี 2024 โตเร็วที่สุดในอาเซียน ด้วยอัตราการเติบโต 6.93% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) เป็นอัตราการเติบโตที่เร่งตัวขึ้นจากอัตราของไตรมาสแรกที่โต 5.87% (YOY) และมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะโต 6.00%
เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วโดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศ และกิจกรรมทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น อันได้แรงสนับสนุนจากการลงทุนจากต่างประเทศ
สำนักงานสถิติของเวียดนามกล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรก ภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามยังคงแข็งแกร่ง โดยมีอัตราการเติบโตของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสูงถึง 8.67% ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยที่แรงหนุนจากการส่งออกที่อัตราการเติบโตเป็นเลขสองหลัก บวกกับการลงทุนจากต่างประเทศที่ฟื้นตัวได้ช่วยสนับสนุนกิจกรรมการผลิตในเวียดนาม
ฟิลิปปินส์โต 6.30% มาอันดับ 2 :
ฟิลิปปินส์จีดีพีไตรมาส 2 โตเร็วเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ที่อัตราการเติบโต 6.30% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) และเติบโตในอัตราเร่งขึ้นจากอัตรา 5.80% (YOY) ในไตรมาสแรกของปี
ด้วยอัตราการเติบโตนี้ คาดว่าจะช่วยฟิลิปินส์บรรลุเป้าหมายการเติบโตของจีดีพีทั้งปี 2024 ที่รัฐบาลตั้งเป้าโตประมาณ 6.00% ถึง 7.00%
หน่วยงานสถิติของฟิลิปปินส์เผยว่า ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในไตรมาส 2 คือ การก่อสร้าง การค้าส่งและค้าปลีก การซ่อมแซมรถยนต์และจักรยานยนต์ และกิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย
ในภาคเศรษฐกิจหลัก ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการมีอัตราการเติบโต 7.7% (YOY) และ 6.8% (YOY) ตามลำดับ ขณะที่ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง เติบโต 2.3% (YOY)
มาเลเซียโต 5.90% คว้าอันดับ 3 :
มาเลเซียจีดีพีไตรมาส 2 ปี 2024 โตเร็วอันดับ 3 ของอาเซียน ด้วยอัตราการเติบโต 5.90% เป็นอัตราที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งคาดไว้ที่ 5.80% เล็กน้อย และเติบโตในจังหวะที่เร่งตัวขึ้นจากอัตราการเติบโต 4.20% (YOY) ในไตรมาสแรกของปี
การเติบโตของเศรษฐกิจมาเลเซียมีแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง บวกแรงหนุนจากการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ บวกกับภาคการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งขึ้น และเศรษฐกิจมาเลเซียยังได้รับประโยชน์แบบอ้อม ๆ จากขาขึ้นของวัฏจักรเทคโนโลยีทั่วโลก ขณะที่การส่งออกเติบโต 8.40% (YOY)
ธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia) คาดว่า โดยรวมทั้งปี เศรษฐกิจมาเลเซียจะเติบโตได้ตามเป้าเกือบ 5.00% แต่จะบรรลุเป้าหมายได้หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นเพียงใด และขึ้นอยู่กับการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ว่าจะผลิตมากน้อยเพียงใด
อินโดนีเซียโตแกร่ง 5.05% :
อินโดนีเซีย ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในอาเซียน จีดีพีไตรมาส 2 ปี 2024 โต 5.05% (YOY) แม้จะเป็นอัตราที่ถือว่าสูง แต่อัตรานี้ชะลอลงจากอัตราการเติบโตของไตรมาส 1 ที่โต 5.11% (YOY) และต่ำกว่าอัตราการเติบโต 5.17% (YOY) ในไตรมาสเดียวกันของปี 2023
การเติบโตในไตรมาสที่ 2 เป็นผลจากการบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น โดยการบริโภคภาคครัวเรือนที่มีสัดส่วนคิดเป็นครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัว 4.93% (YOY) ขณะที่ภาคการส่งออก (รวมถึงการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวตางชาติ) โตขึ้น 8.28% (YOY)
สิงคโปร์โต 2.90% :
สิงคโปร์ จีดีพีในไตรมาส 2 ปี 2024 โต 2.90% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะโต 2.70%
การเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาส 2 มีปัจจัยขับเคลื่อนหลัก คือ ภาคการค้าส่ง การเงิน และการประกันภัย และภาคสารสนเทศและการสื่อสาร
ด้วยอัตราการเติบโตนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ปรับเพิ่มขอบล่างของช่วงประมาณการการเติบโตของจีดีพีปีนี้ จากเดิมคาดไว้ 1.00% ถึง 3.00% เพิ่มเป็น 2.00% ถึง 3.00%
ทั้งนี้ แม้อัตราการเติบโต 2.90% จะเป็นอัตราการเติบโตที่ดูเหมือนไม่สูง แต่ต้องไม่ลืมคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า สิงคโปร์เป็นประเทศ “เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว” ที่เศรษฐกิจเจริญรุดหน้าเพื่อนร่วมภูมิภาคไปไกลชนิด “ไม่เห็นฝุ่น” ซึ่งอัตราการเติบโต 2.90% นั้นอยู่เหนือค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตของประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 16 สิงหาคม 2567