กฎ-เกณฑ์และระเบียบการค้า แก้ปัญหา "สินค้านำเข้า" ถล่มธุรกิจไทย
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้จัดประชุมเพื่อรับฟังปัญหาที่ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สินค้านำเข้า และข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2567
กรมการค้าต่างประเทศ ได้จัดการประชุมร่วมกับภาคเอกชน จำนวน 30 กลุ่มธุรกิจภายใต้หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมต่างๆ เช่น พลาสติก เครื่องนุ่งห่ม ของขวัญของชำร่วย เครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงาน เครื่องปรับอากาศ เหล็ก เครื่องจักรกลและโลหะการ เซรามิก แกรนิตและหินอ่อน เครื่องสำอาง อาหารเสริม เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
เพื่อรับฟังสถานการณ์การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และสถานการณ์การแข่งขันทางการค้าระหว่างสินค้า SMEs ไทยกับสินค้าจากต่างประเทศ รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ไขปัญหาการแข่งขันทางการค้าของสินค้าในประเทศและต่างประเทศทั้งในด้านคุณภาพและราคา
รณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการได้เสนอข้อมูลปัญหาและผลกระทบในภาพรวมที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงภาคบริการและการลงทุน ปัญหาด้านมาตรฐานสินค้าคุณภาพต่ำและราคาถูก การลักลอบนำเข้าสินค้าทางชายแดน การสำแดงพิกัดสินค้าที่เป็นเท็จ รวมถึงการเข้ามาตั้งธุรกิจบริการและภาคการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยและผู้บริโภคชาวไทย
"เอกชนให้ข้อเสนอแนะ การเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของสินค้านำเข้า การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศ การสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการไทยด้านการผลิตและศักยภาพการประกอบธุรกิจ เพื่อให้สินค้าและธุรกิจไทยรักษาส่วนแบ่งตลาดได้ และการปรับปรุงกฎหมาย รวมถึงความตกลงต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าไทย”
ขณะที่กลุ่มที่จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าทุนขอให้พิจารณาในแง่ผลกระทบหากมีการใช้มาตรการกับสินค้านำเข้า เนื่องจากมีความจำเป็นต้องนำเข้าส่วนประกอบสินค้า ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าว กรมฯ จะรวบรวมทุกความเห็นเพื่อนำไปประมวลและเสนอในระดับนโยบายเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงานในภาพรวมต่อไป
ในส่วนของมาตรการเยียวยาทางการค้า (AD/CVD/AC/ Safeguard) กรมฯ ได้อธิบายให้ผู้ประกอบการรับทราบและทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอน ระบบการจัดเก็บข้อมูล กระบวนการไต่สวน รวมทั้งผลกระทบจากการใช้มาตรการ ซึ่งดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ. AD/CVD และ พ.ร.บ. Safeguard
โดยหากผู้ประกอบการพิจารณาแล้วว่าได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าที่มีราคาไม่เป็นธรรม หรือมีการทะลักของสินค้านำเข้า สามารถยื่นคำขอใช้มาตรการดังกล่าวได้ ซึ่งต้องมีเอกสารหลักฐานที่เพียงพอและน่าเชื่อถือ
ทั้งนี้ กรมฯ มีแผนจะจัดการอบรมให้ความรู้กับผู้ประกอบการไทยเกี่ยวกับกฎหมาย วิธีการยื่นคำขอและไต่สวนด้านมาตรการเยียวยาทางการค้าโดยเฉพาะ
“กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสินค้าไม่ได้มาตรฐานและราคาต่ำจากต่างประเทศมาโดยตลอด โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดติดตามและประสานกับหน่วยงานภาครัฐอื่นที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามนโยบาย
การใช้มาตรการแก้ไขปัญหาสินค้าไม่ได้มาตรฐานราคาต่ำต้องคำนึงถึงการค้าที่เป็นธรรมและยั่งยืนเนื่องจากการค้าไทยต้องพึ่งพาประเทศคู่ค้า มาตรการต้องสอดคล้องกับพันธกรณีและความตกลงระหว่างประเทศ การดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐจะต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับกฎหมาย และเกิดผลที่สามารถวัดได้”
กระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย รวมทั้งโครงสร้างของคณะทำงานระดับชาติในการขับเคลื่อนมาตรการที่มีผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ต่อไป
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 22 สิงหาคม 2567