เอกชนมีความหวังใหม่ หลังหารืออุ๊งอิ๊งค์ จูนภาพศก.ให้เป็นทิศเดียวกัน
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับน.ส.แพทองธาร ชินวัตร (อุ๊งอิ๊งค์) นายกรัฐมนตรีและคณะ เพื่อนำเสนอภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันนั้น ต้องยอมรับว่า ภาพที่ดีจากการหารือกันในครั้งนี้คือ การพร้อมรับฟังข้อมูลจากภาคเอกชนของนายกฯ ซึ่งข้อเสนอที่ภาคเอกชนนำโดยหอการค้าส่งให้ นายกได้ตอบรับพร้อมแจ้งว่ามีข้อเสนอหลายข้อเสนอที่เป็นนโยบายเดิมที่ทำอยู่แล้ว และก็มีอีกหลายเรื่องที่ใช้เป็นนโยบายใหม่ของรัฐบาลใหม่ที่กำลังเตรียมอยู่ ส่วนเรื่องที่ภาคเอกชนนำไปเสริมในด้านอื่นๆ เพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจไทยต่อไป นายกได้ตอบรับทั้งหมด เพราะที่ไปหารือกันครั้งนี้เน้นเป็นเรื่องเศรษฐกิจทั้งหมด ให้ฟื้นตัวได้เร็วกว่าเดิมอีกสักนิด ถือเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่เริ่มต้นได้ดี
“การหารือร่วมกันครั้งนี้ ถือว่ามีความหวังมากขึ้นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะว่าอย่างน้อยที่สุดเป็นเรื่องพื้นฐานที่รัฐบาลต้องรับรู้และรับฟังไว้ รวมถึงเข้าใจในทิศทางเดียวกันกับภาคเอกชนและภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพราะเป็นสถานการณ์ที่ประชาชนและธุรกิจต้องเผชิญอยู่” นายวิศิษฐ์ กล่าว
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า เรื่องด่วนที่นำเสนอนั้นเป็นเรื่องการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากเศรษฐกิจขณะนี้อยู่ในภาวะที่เป็นขาลงมากๆ คนที่ถูกกระทบมากที่สุดจะเป็นกลุ่มเปราะบาง โดยการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่โควิด ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยมากๆ ก็คงเป็นลักษณะของเงินช่วยเหลืออย่างโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพราะต้องเป็นการช่วยเหลือในระยะสั้นก่อน เพื่อให้ประชาชนรอดพ้นในช่วงภาวะวิกฤตไปให้ได้ แต่ในการหารือกันยังไม่ได้ลงรายละเอียดว่าจะมีความชัดเจนอย่างไร เป็นเงินดิจิทัลเลยหรือไม่ แต่เบื้องต้นมองว่าคงเป็นการช่วยเหลือในรูปแบบที่ง่ายสุด อาจไม่ได้ถึงขั้นต้องรอเป็นดิจิทัลวอลเล็ต แต่อาจเป็นการช่วยเหลือในรูปแบบที่เคยทำมาแล้ว เหมาะสมกับระยะสั้นท่ามกลางภาวะที่ทุกคนประสบปัญหาหนักในตอนนี้
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอี เพราะผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้มีความชัดเจนมากว่าติดขัดหลายอย่างโดยเฉพาะแหล่งเงินทุนที่สภาพคล่องยังไม่กลับมา ความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องมีวิธีการช่วยเหลือสนับสนุนที่แตกต่างกันไป เน้นเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้เห็นผลมากที่สุด นอกเหนือจากแนวทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบแล้ว เรื่องของอัตราดอกเบี้ย และนวัตกรรมความรู้ใหม่ที่จะทำธุรกิจและสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ ก็ต้องมีการพัฒนาและสนับสนุนมากขึ้น ในส่วนของผู้ประกอบการก็ต้องมีการเสริมเครื่องมือเพิ่มเติมให้กับตัวเอง แต่ส่วนภาครัฐก็ต้องช่วยในเรื่องอีโคซิสเต็มส์ที่เกี่ยวข้องได้ อาทิ กฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความล้าสมัย หรือเป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้ว แต่มีกฎหมายอื่นเข้ามากดทับเพิ่มอีก มีความซ้ำซ้อนและเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ ซึ่งทุกอย่างก็เป็นต้นทุนในการทำธุรกิจหมด
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 25 สิงหาคม 2567