ลงทุนเอกชน ถดถอยซ้ำเติม ศก. นำเข้าสินค้าทุนชะลอ อุตสาหกรรมเจอปัจจัยเสี่ยง
ลงทุนเอกชนชะลอตัว Q2 สศช.เผยครึ่งปีติดลบ 0.8% ตั้งบริษัทครึ่งปีติดลบ 69% ธปท.ชี้เพราะยอดขายกระบะลด ส.อ.ท. ชี้การเมืองไม่นิ่งชะลอลงทุน นักเศรษฐศาสตร์ ห่วง นำเข้าสินค้าทุนฉุดการลงทุน กรุงศรีฯ ย้ำรายใหญ่ชะลอกู้เงิน บีโอไอ มั่นใจยังเติบโต ภูมิรัฐศาสตร์หนุนย้ายฐาน
การลงทุนที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 หดตัวลงเป็นไตรมาสที่ 3 หรือลดลง 6.2% โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่าการลงทุนภาคเอกชนลดลง 6.8% ตามการลดลงของการลงทุนหมวดเครื่องจักรเครื่องมือ 8.1% สอดคล้องกับการลดลงของการลงทุนหมวดยานพาหนะ 22.5% และการชะลอตัวของการนำเข้าสินค้าทุน
ส่วนการลงทุนหมวดก่อสร้างลดลง 2.2% ตามการลดลงของการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ขณะที่การก่อสร้างโรงงานขยายตัว และการลงทุนภาครัฐลดลง 4.3% รวมครึ่งแรกของปี 2567 การลงทุนรวมลดลง 5.1% โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลง 0.9% และการลงทุนภาครัฐลดลง 16.7%
การลงทุนที่ลดลงดังกล่าวสอดคล้องกับสถิติการจดทะเบียนใหม่ที่ลดลงในช่วง 7 เดือน แรกของปี 2567 ที่มีจำนวน 54,220 ราย เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 69.99%
ขณะที่คำขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือน แรกของปี 2567 มีจำนวนกิจการ 1,412 แห่ง เงินลงทุน 458,358 ล้านบาท ทุนจดทะเบียน 25,997 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปี 2566 ที่มีกิจการ 891 แห่ง เงินลงทุน 364,442 ล้านบาท ทุนจดทะเบียน 73,250 ล้านบาท
ในรอบเกือบ 1 ปี ที่ผ่านมา ช่วงรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ได้มีการหารือกับบริษัทต่างชาติจำนวนมากเพื่อให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยรัฐบาลนายเศรษฐา คาดว่าจะเกิดการลงทุนจากกิจกรรม Roadshow และมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล จาก 4 อุตสาหกรรมหลักที่ได้กล่าวมา รวมแล้วประมาณ 558,000 ล้านบาท
ถึงแม้ว่าจะมีข่าวถึงกรณีเทสล่าได้ยกเลิกแผนการลงทุนในไทย โดยทีมงานนายเศรษฐา ยืนยันมาตลอดว่าเทสล่ายังสนใจลงทุนในประเทศไทย แต่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอาจจะมีผลต่อการตัดสินใจของบริษัทต่างชาติที่นายเศรษฐาไปเจรจา
ธปท.ชี้การลงทุนอาจไม่ได้หายไปไหน :
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ธปท.กำลังติดตามดูการลงทุนใกล้ชิดเพราะตัวเลขหดตัวลงค่อนข้างมาก ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่ทำให้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงเกิดจากยอดซื้อรถกระบะลดลงมาก เพราะการซื้อรถกระบะถูกนับเป็นการลงทุนจึงทำให้ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมลดลงตามไปด้วย
“ช่วงที่ผ่านมาราคารถมือสองดรอปลงมาก กระทบสินเชื่อที่กลายเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น จึงวนกลับมาที่กำลังซื้อรถกระบะลดลงด้วย ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลงจึงไม่ได้มาจากการลงทุนที่หายไปเป็นหลัก แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากยอดซื้อรถกระบะที่ดรอปลง เรากำลังดูว่าประเด็นที่เกิดขึ้นนี้เป็นปัจจัยชั่วคราวหรือไม่”
นายเศรษฐพุฒิ ตอบคำถามประเด็นที่ว่า ธปท.มองเศรษฐกิจดีเกินไปหรือไม่ว่า ธปท.ไม่เคยใช้คำว่าเศรษฐกิจดีเลย เพียงแต่บอกว่าเศรษฐกิจขยายตัวเข้าสู่ระดับศักยภาพ ซึ่งศักยภาพเศรษฐกิจไทยค่อนข้างต่ำ 3% หย่อนลงมา และสิ่งที่ ธปท.เริ่มกังวลเพิ่มเป็นความเปราะบางของกำลังซื้อเริ่มขยายยังกลุ่มอื่นที่นอกเหนือจากกลุ่มฐานรากบ้างแล้ว
“นโยบายการเงินเรา More Open เพราะเห็นความอ่อนแอโดยเฉพาะกลุ่มฐานรากที่เริ่มขยายไป จากเดิมสินเชื่อบ้านที่มีปัญหามักเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 3 หมื่นบาท แต่ตอนนี้เริ่มเห็นการขยายวง ย้ำว่าพร้อมปรับนโยบายการเงินให้เหมาะกับสถานการณ์”
การเมืองไม่นิ่งกระทบตัดสินใจลงทุน :
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การลงทุนภาคเอกชนที่ลดลงมีปัจจัยส่วนหนึ่งจากการเมืองที่มีความไม่แน่นอน และทำให้ขาดความเชื่อมั่นนับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญรับคดีนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำให้นักลงทุนรอดูสถานการณ์ในบางรายหรือบางอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ประเทศไทยมีปัญหาทางเศรษฐกิจรุมเร้า รวมถึงมีความท้าทายมากมายที่เกิดขึ้นในโลก และประเทศไทย ยังอยู่ช่วงต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น และสร้างการลงทุนใหม่ เพื่อเชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศ
“ตอนนี้นักลงทุนต่างรอดูความเชื่อมั่นในเชิงนโยบายที่ได้หารือไว้ภายหลังได้นายกรัฐมนตรีท่านใหม่ คาดว่าภายใน 1 เดือนจะได้คณะรัฐมนตรีครบจำนวน จึงคาดว่าการลงทุนต่อจากนี้จะดีขึ้น หากไม่มีเหตุการณ์ทางการเมืองมากระทบอีก” นายเกรียงไกร กล่าว
นำเข้าสินค้าทุนชะลอตัวฉุดการลงทุน :
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า การลงทุนเอกชนที่ลดลงค่อนข้างแรง มาจากการนำเข้าการลงทุนด้านเครื่องจักรด้านการก่อสร้างชะลอ ซึ่งถือเป็นสัญญาณน่าห่วงเพราะสะท้อนถึงกำลังผลิตระยะข้างหน้าที่อาจลดลงได้ และอาจฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ชะลอตัวต่อเนื่องหรือฟื้นตัวช้ามากขึ้น
สะท้อนเศรษฐกิจไทยที่ออกมาไตรมาส 2 ที่ 2.3% ถือว่าใกล้เคียงกับดีเกินคาด หากเทียบกับประมาณการที่ซีไอเอ็มบีไทยประเมินว่าจะขยายตัวเพียง 1.8% แต่การขยายตัวดังกล่าวยังถือว่าต่ำที่สุดในอาเซียน การเติบโตต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย หลักๆ มาจากการฟื้นตัวการบริโภคเอกชน และการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ และการใช้จ่ายรัฐที่กลับมาเป็นบวก และเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย
ภาคอุตสาหกรรมเผชิญปัญหาหนัก :
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ระบุว่า ปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมเผชิญปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหลักอย่าง รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมีที่เจอปัญหาการชะลอตัวพร้อมกัน จึงเห็นตัวเลขปิดโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ยังคงมีต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง
แต่ตัวที่น่าห่วงมากขึ้นคือ การบริโภคสินค้าคงทน และการลงทุนในส่วนของที่อยู่อาศัยที่ติดลบต่อเนื่อง เหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า อัตราการเติบโตของสินเชื่อของระบบธนาคารที่ชะลอตัวลง เริ่มมีผลกระทบต่อตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยแล้ว
ดังนั้น สิ่งที่ต้องติดตามคือ หากสัญญาณเหล่านี้ ยังคงหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสถัดๆ มา ผลกระทบที่อยู่แค่บางอุตสาหกรรม อาจลามมากระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจไทย
“ผู้ประกอบการรายใหญ่” ชะลอกู้เงินลงทุน :
นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ยอมรับว่าปัจจุบันทุกพอร์ตสินเชื่อเสี่ยงขึ้นรวมถึงธุรกิจรายใหญ่ที่เคยเป็นกลุ่มแข็งแกร่ง แต่วันนี้เผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากความเสี่ยงที่เศรษฐกิจชะลอตัวซึมลึก และนาน รวมถึงประเด็นใหม่ที่มากระทบต่อธุรกิจมากขึ้น โดยธุรกิจที่ยังไปได้ส่วนใหญ่อยู่ภาคการท่องเที่ยว
"แนวโน้มการขอสินเชื่อของธุรกิจรายใหญ่ไม่ได้เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ชะลอการลงทุน ชะลอขยายกิจการเพื่อรอความชัดเจนเศรษฐกิจระยะข้างหน้า ซึ่งหลายธุรกิจมีความเสี่ยงค่อนข้างมากทั้งธุรกิจรถยนต์ อสังหาฯ และผลกระทบจากดิสรัปชันต่างๆ รวมถึงการเข้ามาแข่งขันของจีนที่เข้ามาแย่งตลาดไทย ดังนั้น สถานการณ์น่าห่วงขึ้น”
“บีโอไอ” ยืนยันการลงทุนไทยเติบโต :
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า การลงทุนในไทยมีการเติบโตมากในช่วง 1-2 ปีนี้ ถือเป็นช่วงที่มีการลงทุนสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดครึ่งปีมีคำขอลงทุนกว่า 1,400 โครงการ เพิ่มขึ้น 60% มูลค่า 4.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 35%
ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสาขาอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท ราว 30% รองลงมเป็นยานยนต์ และชิ้นส่วน แปรรูปอาหาร ปิโตรเคมี และดิจิทัล โดยเฉพาะดาต้าเซนเตอร์ คลาวด์เซอร์วิส เป็นต้น
ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ถือว่าไม่ได้มีผลกระทบกับการดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาสู่ประเทศไทย โดยในภาพใหญ่ยังถือว่ามีปัจจัยบวกที่สนับสนุนการลงทุนในประเทศไทย
โดยเฉพาะประเด็นความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตซึ่งเป็นภาพที่ชัดเจน และประเทศไทยต้องใช้โอกาสนี้ในการดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อสร้างฐานการผลิตที่จะทำให้เศรษฐกิจในระยะต่อไปของประเทศเติบโตมากขึ้น
“การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นภาพระยะสั้น ขณะที่นักลงทุนในการตัดสินใจลงทุนจะมองภาพระยะยาว และที่ผ่านมานักลงทุนก็ทราบดีว่าทุกรัฐบาลที่เข้ามาต่างก็มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และการทำงานของบีโอไอก็เป็นการทำงานร่วมกับนักลงทุนตั้งแต่เริ่มต้น ช่วยแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้เกิดการลงทุนจริง” นายนฤตม์ กล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 26 สิงหาคม 2567