การลงทุนเอกชนหายไปไหนหมด?
ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ “สภาพัฒน์” ประกาศออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
โดยขยายตัว 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอินไลน์กับที่ตลาดและธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” คาดการณ์ไว้ มองผิวเผินเหมือนไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ถ้าเจาะดูไส้ในลึกๆ จะเห็นว่ามีเรื่องที่เราทุกคนควรต้องกังวลอยู่มาก โดยเฉพาะประเด็นการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวลงลึกถึง 6.8% นับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส
สภาพัฒน์ บอกว่า การลงทุนภาคเอกชนที่ลดลงเป็นผลจากการลงทุนในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือที่หดตัวถึง 8.1% เป็นผลต่อเนื่องจากการลดลงของการลงทุนในหมวดยานพาหนะที่ดิ่งลงถึง 22.5% และเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องจากที่ลดลง 19.5% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างก็ลดลง 2.2% ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส โดยเป็นผลจากการลดลงของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ดิ่งลง 7.4% สอดรับกับการชะลอตัวลงของสินเชื่อครัวเรือน
ด้าน “แบงก์ชาติ” ให้ข้อมูลที่สอดรับกับตัวเลขของสภาพัฒน์ว่า การลงทุนภาคเอกชนที่หดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากยอดซื้อรถกระบะในไตรมาส 2 ปี 2567 หดตัวลงไปมาก ซึ่งการซื้อรถกระบะถูกนับเป็นการลงทุนจึงทำให้ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนในภาพรวมหดตัวลงด้วย โดย “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ บอกกับกรุงเทพธุรกิจว่า กำลังติดตามดูประเด็นดังกล่าวว่าจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวหรือไม่
ในขณะที่ฟากธุรกิจอย่าง “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) บอกว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุน เกิดจากปัจจัยการเมืองที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้าหนัก บวกกับผลกระทบจากสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาอย่างมาก ช่วงที่ผ่านมาจึงเห็นการปิดตัวลงของบริษัทและโรงงานจำนวนมากโดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี
ฟากของนักเศรษฐศาสตร์ก็แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้ไม่น้อยกว่ากัน โดยมองว่า การบริโภคสินค้าคงทนและการลงทุนในส่วนของที่อยู่อาศัยซึ่งติดลบต่อเนื่องถือเป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างมาก และหากการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวเช่นนี้ต่อเนื่อง จะยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะกลางถึงยาว ยิ่งปัจจุบันเศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับที่ต่ำรั้งท้ายของอาเซียนอยู่แล้ว หากยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะยิ่งทำให้ความน่าสนใจของประเทศไทยในมุมมองนักลงทุนต่างชาติลดลงมากขึ้น ...เราเห็นว่าประเทศไทยควรต้องรีบแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นเราอาจถูกลบจากแผนที่การลงทุนโลกได้!
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 28 สิงหาคม 2567