"เงินบาทแข็ง" ค่าระวางเรือแพง ปัจจัยเสี่ยงส่งออกครึ่งปีหลัง
ส่งออกเดือน ก.ค.พุ่ง ฟื้นตัวแข็งแกร่ง โต 15.2% สูงสุดในรอบ 28 เดือน มูลค่า 25,720.6 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 171,010.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.8% มั่นใจทัั้งปีได้ตามเป้า 2 %
กระทรวงพาณิชย์ รายงานสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ เดือน ก.ค.2567 พบว่าการส่งออกไทยเดือน ก.ค.2567 ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีการขยายตัว 15.2% นับเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค.2565
หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ยังคงขยายตัว 9.3% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 27,093.8 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.1 % ดุลการค้า ขาดดุล 1,373.2 ล้านดอลลาร์
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกเดือน ก.ค.2567 เป็นผลจากการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลก ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้กับผู้บริโภค เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการฟื้นตัวนี้
ขณะที่การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและการปรับตัวของค่าจ้างในประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะในยุโรปส่งผลให้การบริโภคฟื้นตัว เป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทย โดยตลาดหลักที่กลับมาฟื้นตัวได้ดี อาทิ สหรัฐ จีน อาเซียน และสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ สอดคล้องกับการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของ IMF ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี และเศรษฐกิจยุโรปที่ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว
ขณะที่ภาพรวมช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 171,010.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 177,626.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4.4 % ทำให้ 7 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,615.9 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณารายละเอียดการส่งออกเดือน ก.ค.2567 ที่ขยายตัว 15.2% มีปัจจัยที่สนับสนุน ดังนี้
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 8.7% โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 3.7% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 14.6%
ทั้งนี้สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ข้าว ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย และเครื่องดื่ม ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 4.0 %
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 15.6% โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ
ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด เครื่องยนต์สันดาปภายในลูกสูบและส่วนประกอบ ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 3.8%
สำหรับการส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดี ตามภาพรวมเศรษฐกิจคู่ค้าที่มีสัญญาณปรับดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก ขยายตัว 16.2 % ได้แก่ ตลาดสหรัฐ ขยายตัว 26.3% , สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) ขยายตัว 17.1% , CLMV ขยายตัว 19.8% , ตลาดจีน ขยายตัว 9.9% และอาเซียน (5 ประเทศ) ขยายตัว 17.8% และตลาดญี่ปุ่น ติดลบ 2.5%
ตลาดรอง ขยายตัว 4.6 % ได้แก่ ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัว 29.5% , ลาตินอเมริกา 4.4% , รัสเซียและกลุ่ม CIS ขยายตัว 0.5% และสหราชอาณาจักร ขยายตัว 13.3% ขณะที่ติดลบในตลาด ทวีปออสเตรเลีย ติดลบ 2.8% , ตะวันออกกลาง ติดลบ 3.7% และแอฟริกา ติดลบ 6.7%
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า การส่งออกเดือน ส.ค.2567 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยที่เหลืออีก 5 เดือน หากส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 24,000 ล้านดอลลาร์ การส่งออกทั้งปีจะขยายตัวอยู่ในกรอบเป้าบน 2% จากเป้าหมายทั้งปีที่วางได้ 1-2%
ทั้งนี้มีปัจจัยหนุนมาจากภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่กำลังปรับตัวดีขึ้น ความต้องการสินค้าอาหาร รวมถึงสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมของโลก ขณะเดียวกันคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลจะสนับสนุนสินค้าที่เกี่ยวเนื่องให้เติบโตตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการส่งออกจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ เงินบาทแข็งค่า ค่าระวางเรือที่อาจปรับขึ้นสูงอีก และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าหลังการเลือกตั้งในหลายประเทศที่สำคัญ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
“มั่นใจว่าการส่งออกของไทยในปี 67 นี้ จะอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1-2% และมีโอกาสสูงที่จะขยายตัวได้ในกรอบบน คือ 2%” นายพูนพงษ์ กล่าว
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรณีรถยนต์อีวีที่จะเข้ามาแทนที่รถยนต์สันดาปนั้น จากการหารือกับผู้ผลิต ทราบว่า ได้มีการปรับตัวกันบ้างแล้ว แต่สำหรับการส่งออกรถยนต์สันดาป และชิ้นส่วนของไทย ยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะส่งออกไปละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง แอฟริกา ฯลฯ เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังใช้รถยนต์สันดาป
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องค่าระวางเรือไม่ใช่ปัญหาที่ต้องหนักใจ แม้ว่ายังอยู่ในระดับสูง ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง ส่วนค่าระวางไปยุโรป เพิ่มขึ้น 2 เท่า ไปอเมริกาเริ่มอ่อนตัวลง ส่วนตู้คอนเทนเนอร์มีเพียงพอ และค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้กำไรลดลง แต่คำสั่งซื้อใหม่ที่จะเข้ามาช่วงปลายปีถึงปีใหม่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ สำหรับเป้าส่งออกทั้งปี มั่นใจว่า จะทำได้ตามเป้า 1-2% ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 28 สิงหาคม 2567