ไทยปักธงบูม PCB ติดท็อป 5 โลก เร่งขับเคลื่อนลงทุน 2 แสนล้าน
รัฐเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจโครงสร้าง บูมอุตสาหกรรมแผ่นวงจร ปักธงดันไทยสู่ฐานผลิต 1 ใน 5 ของโลก "บีโอไอ" ชี้ PCB โตก้าวกระโดด จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ยื่นขอลงทุนรวม 2 แสนล้าน 151 โครงการ 7 เดือนแรกขอลงทุนเฉียด 5 หมื่นล้าน ตลาดทั่วโลกโตพรวด 3 ล้านล้าน อว.เร่งอัพสกิล-รีสกิล สร้างแรงงานทักษะสูง-ซัพพลายเชนรองรับ รวมถึงการจ้างงานครั้งใหญ่ในอนาคต
อุตสาหกรรมแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หรือ PCB (Printed Circuit Board) ถือเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุตสาหกรรมแขนงสำคัญของประเทศไทย ที่เป็นฐานประกอบและเชื่อมต่อวงจรไฟฟ้าของอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ บอร์ดประมวลผลในรถยนต์ (ECU) อุปกรณ์ทางการแพทย์ AI Server และอุปกรณ์รับส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งพัฒนาสร้างรายได้เข้าประเทศ
บีโอไอหนุน PCB :
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ และ PCB มีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่มาที่ไทย ด้วยศักยภาพของไทยที่มีความพร้อมทุกด้าน ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรทักษะสูง และห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง ทำให้ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นจุดหมายของการลงทุน
ช่วง 7 เดือนแรก (มกราคม-กรกฎาคม 2567) การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิต PCB มี 43 โครงการ เงินลงทุนรวม 48,000 ล้านบาท จากภาพรวมการขอบีโอไอกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 160,270 ล้านบาท
หากนับรวมตั้งแต่ปี 2561 ถึงเดือนกรกฎาคม 2567 มีการขอรับการส่งเสริมในกิจการผลิต PCB รวม 151 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 2 แสนล้านบาท โดยปี 2566 เพียงปีเดียว มีมูลค่าเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของบริษัทชั้นนำจากจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฮ่องกง
ขณะนี้เป็นห้วงเวลาสำคัญของการสร้างฐานการผลิตอุตสาหกรรม PCB ในไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน บีโอไอจึงได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยขยายขอบเขตการส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรม PCB แบบครบวงจร ครอบคลุมทั้ง Supply Chain รวมถึงการผนึกกำลังกับกระทรวง อว. ในการเร่งพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรม PCB อีกทั้งจับมือภาคเอกชน เพื่อสร้างการเชื่อมโยงภายในอุตสาหกรรม และสร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยในการผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบส่งให้กับบริษัทผู้ผลิต PCB เหล่านี้ด้วย
สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุน PCB ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2567 ได้เห็นชอบให้เพิ่มเติมบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมใน “กลุ่มแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board : PCB)”นอกเหนือจากการส่งเสริมการผลิต PCB และ PCBA อยู่แล้ว ขยายให้ครอบคลุมกิจการสนับสนุนที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานของ PCB เพื่อรองรับกระแสการโยกย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่จากแรงกดดันของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ได้แก่
1)กิจการสนับสนุนการผลิต PCB ได้แก่ Lamination, Drilling, Plating และ Routing
2)กิจการผลิตวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิต PCB ได้แก่ Copper Clad Laminate (CCL), Flexible CCL (FCCL) และ Prepreg และ3.กิจการผลิตวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นอื่น ๆ สำหรับการผลิต PCB เช่น Dry Film, Transfer Film, Backup Board
โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่นำมาผลิตเพื่อส่งออก และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี โดยจำแนกตามความสำคัญของวัตถุดิบ เทคโนโลยี และขนาดการลงทุน
การเข้ามาลงทุนครั้งใหญ่ของกลุ่มผู้ผลิต PCB ในครั้งนี้ถือเป็นคลื่นการลงทุนไม่เพียงแต่จะสร้างเม็ดเงินมหาศาลเท่านั้น แต่จะช่วยยกระดับซัพพลายเชนเกิดการจ้างงานและพัฒนาบุคลากร
วางรากฐานสร้างคน :
นอกจากนี้ยังได้ขยายขอบเขตการส่งเสริม PCB ให้ครบวงจร ครอบคลุมการผลิต PCB, PCBA, วัตถุดิบและชิ้นส่วน และบริการที่เกี่ยวข้องกับ PCB ทั้งร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และภาคเอกชน ช่วยจัดหาบุคลากรให้ผู้ผลิต PCB ผ่านกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ และโปรแกรมการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะให้ดีกว่าเดิม (Upskill) และการสร้างทักษะขึ้นมาใหม่ (Reskill) เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำระดับโลก
“การเข้ามาลงทุนอย่างรวดเร็วของผู้ผลิต PCB ทำให้ไทยต้องรีบเตรียมความพร้อม เมื่อโรงงานเหล่านี้สร้างเสร็จและเริ่มผลิตใน 1-2 ปีนี้ โดยจะให้ความสำคัญกับการเตรียมเรื่องบุคลากร และซัพพลายเชน”
ที่ผ่านมาบีโอไอประกาศความเป็นผู้นำของไทย ในการเป็นฐานการผลิต PCB อันดับ 1 ของอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ในการจัดงาน Thailand Electronics Circuit Asia หรือ THECA 2024 ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความก้าวหน้าของ PCB ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่จะต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ คอมพิวเตอร์ เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์โทรคมนาคม ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์
พร้อมกันนี้ ประเทศไทยยังได้เป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมวงจรอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ครั้งที่ 17 หรือ Electronic Circuits World Convention ในปี 2027 แสดงถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทย ในการเป็นผู้นำระดับแนวหน้าของอาเซียนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างชัดเจน
ขอลง EEC 3 ราย :
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) กล่าวว่า เดือนกรกฎาคม 2567 EEC ได้เดินทางไปพบนักลงทุนที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน และลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจกว่างโจว เพื่อร่วมส่งเสริมชักชวนนักลงทุนจีนของนครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะดึงการลงทุนจากผู้ผลิต PCB
และครั้งนี้มีบริษัทจีนยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุนกับ EEC จำนวน 3 ราย ซึ่ง 1 ใน 3 นี้ เป็น PCB และอยู่ในช่วงคัดเลือกสถานที่ตั้งโรงงานระดับพันล้านบาท
สตาร์สินค้าส่งออก :
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 มีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของการส่งออกทั้งประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมที่ดึงดูดการลงทุน ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 535,000 ล้านบาท เฉพาะปี 2566 มีมูลค่าคำขอสูงถึง 334,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า เมื่อเทียบปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 40%
หากพิจารณาเฉพาะกลุ่ม PCB และ PCBA จะเห็นว่าการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากมูลค่า 15,600 ล้านบาท ปี 2564 และ 15,900 ล้านบาท ปี 2565 เพิ่มเป็น 100,860 ล้านบาท ในปี 2566 และเติบโตต่อเนื่องในปี 2567 โดยช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 มีคำขอรับการส่งเสริม PCB และ PCBA จำนวน 27 โครงการ มูลค่ารวม 36,044 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฮ่องกง
“ถือเป็นช่วงสำคัญของการสร้างฐานการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้ง PCB และ PCBA ในไทยให้เติบโต บีโอไอจึงปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยขยายขอบเขตการส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรม PCB แบบครบวงจร ครอบคลุมทั้ง Supply Chain รวมถึงผนึกกำลังกับภาคเอกชน เพื่อสร้างการเชื่อมโยงภายในอุตสาหกรรม และสร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยในการผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบส่งให้กับบริษัทผู้ผลิต PCB เหล่านี้ด้วย”
ขณะที่ นายพิธาน องค์โฆษิต นายกสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย ให้ความเห็นก่อนหน้านี้ว่า การได้รับสนับสนุนจากบีโอไอ ทำให้ไทยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการทั่วโลก ปัจจุบันแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 4% หากมีการเปิดโรงงานอีก 50 โรงงานตามที่ขอบีโอไอไว้ จะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของไทยโตได้ถึง 10% เป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวม ทั้งการสร้างอาชีพและการจ้างงานที่จะเพิ่มขึ้น 50,000-80,000 ตำแหน่งงาน
สำหรับตลาด PCB ทั่วโลกคาดว่าจะมีมูลค่า 3 ล้านล้านบาท (86.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2026 โดยเติบโตเฉลี่ยปีละ 3.3% HDI PCBs มีอัตราการเติบโตสูงถึง 11.1% เนื่องจากมีขนาดเล็ก ประสิทธิภาพสูง และน้ำหนักเบา รวมทั้ง Flexible PCBs ก็กำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นในสินค้าเทคโนโลยีสวมใส่และอุปกรณ์อัจฉริยะ โดยคาดว่าตลาดจะมีมูลค่า 5.3 แสนล้านบาท (15.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2026
นายแคนิส ชุง นายกสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ฮ่องกง กล่าวว่า ผู้ประกอบการแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB และ PCBA) ทั่วโลก ให้ความสนใจและเชื่อมั่นในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก PCB และ PCBA เป็นส่วนสำคัญสำหรับวัสดุพื้นฐานและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด รวมทั้งเป็นแกนหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ล้ำสมัยที่กำหนดอนาคตของโลก
ขณะนี้มีประเทศยืนยันเข้าร่วมจัดงานแล้ว ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินเดีย และเนเธอร์แลนด์
ทั้งนี้ สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ได้ร่วมกันจัดตั้ง ศูนย์แผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand Electronics Circuit Center) เพื่อทำการวิจัยและพัฒนา สร้างห่วงโซ่อุปทานในประเทศ ผลิตต้นแบบแผงวงจรพิมพ์ พัฒนาบุคลากรและพัฒนาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศ
ทั่วโลกโต 3 ล้านล้าน :
รายงานข่าวระบุว่า ผลศึกษาของบริษัทวิจัย เพรเซเดนซ์ รีเสิร์ช (Precedence Research) คาดว่า ตลาด PCB ทั่วโลกจะมีมูลค่า 91,790 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,120,080 ล้านบาท) ในปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 152,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5,182,340 ล้านบาท) ภายในปี 2033 โดยมีอัตราการเติบโตแบบทบต้น 5.80% ต่อปี ในช่วงปี 2024-2033
ปัจจุบันภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีอำนาจเหนืออุตสาหกรรม PCB ทั้งแง่การผลิตและการใช้งาน โดยเป็นฐานการผลิตที่ครองส่วนแบ่งยอดขาย 47.14% ของยอดรวมทั้งอุตสาหกรรมเมื่อปีที่แล้ว
เนื่องจากมีผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์หรือชิปหลายรายอยู่ในภูมิภาคนี้ ความต้องการใช้งานแผงวงจรพิมพ์จึงมีมากขึ้น ทั้งยังได้แรงหนุนจากการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะมากขึ้นในหลายประเทศ อาทิ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น
ซึ่งปี 2023 ขนาดตลาด PCB ในเอเชีย-แปซิฟิกอยู่ที่ 40,900 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,390,700 ล้านบาท) คาดว่าจะเพิ่มเป็น 73,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,513,330 ล้านบาท) ในปี 2033 มีอัตราเติบโตแบบทบต้น 6.10% ต่อปี ในช่วงปี 2024-2033
อย่างไรก็ตาม แม้เอเชีย-แปซิฟิกจะเป็นผู้นำในแง่การผลิตและขนาดตลาด โดยมีจีนเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออก PCB มากที่สุดในโลก แต่สหรัฐยังคงเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยี โดยการผลิตของสหรัฐเป็นการผลิต PCB ขั้นสูงที่ทำให้มีรายได้ต่อหน่วยการผลิตและอัตรากำไรสูงกว่าการผลิตของฝั่งเอเชีย
เมื่อเทียบตามภูมิภาคแล้ว อเมริกาเหนือครองส่วนแบ่งรายได้ 27.41% ของรายได้รวมในอุตสาหกรรม ขณะที่ผู้ผลิตในเอเชีย-แปซิฟิกที่ผลิตมากกว่ามีรายได้รวมกันแค่ 47.14% ซึ่งไทยยังส่งออกเป็นอันดับที่ 5 หรือ 6 ในปี 2022 และยังห่างชั้นจากอันดับ 4 อยู่มากพอสมควร
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 31 สิงหาคม 2567