พายุไต้ฝุ่นยางิ เปลี่ยนทิศขึ้นฝั่งเวียดนาม เตือนเหนือ-อีสานตอนบน โดนฝนเต็มๆ
พายุไต้ฝุ่นยางิเคลื่อนที่ลงต่ำคาดขึ้นฝั่งชายแดนจีน-เวียดนาม แทน เกาะไต้หวัน-มณฑลฝูเจี๊ยน จีน ภาคเหนือ-อีสานตอนบน รับฝนหนักเต็ม ๆ ขณะที่กรมอุตุฯเตือนอิทธิพลจากพายุจะดึงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน อ่าวไทยและทะเลจีนใต้แรงขึ้น ส่งผลให้ภาคใต้ และภาคตะวันออกต้องเฝ้าระวังฝนตกหนัก
วันที่ 2 กันยายน 2567 นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ บริษัททีม เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ หรือ TEAM GROUP กล่าวว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ซึ่งเป็นพายุลูกที่ 11 ของปีนี้ ได้เปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่
จากเดิมที่คาดว่า จะพัดผ่านเกาะไต้หวันและขึ้นฝั่งที่จีน ล่าสุดได้เคลื่อนที่ไปทางทิศเหนือและจะขึ้นฝั่งที่ชายแดนเวียดนาม-จีนแทน
ลักษณะเช่นนี้จะทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากที่ ฟิลิปปินส์ เกาะไหหลำ เวียดนาม มลฑลยูนาน และกวางสีของจีน และทำให้ฝนตกเพิ่มขึ้นในภาคอีสานตอนบนและภาคเหนือตอนบนตั้งแต่วันที่ 10-11 ก.ย.เป็นต้นไป
วันที่ 1 ถึง 3 ก.ย. พายุไต้ฝุ่นยางิจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 2 และ 3 (แรงสูงสุด = 5) ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากที่ภาคเหนือของฟิลิปปินส์แล้วเปลี่ยนทิศเคลื่อนที่ไปทางตะวันตก
วันที่ 5-6 ก.ย. จะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 4 เคลื่อนที่อยู่ในทะเลจีนใต้ วันที่ 7 ก.ย. จะเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งทำให้ฝนตกหนักมากที่ เกาะไหหลำ
วันที่ 10-11 ก.ย. พายุไต้ฝุ่นยางิเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งที่ชายแดนเวียดนาม-จีน ทำให้ฝนตกหนักในตอนบนของเวียดนามและตอนล่างสุดของมณฑลกวางสี และในพื้นที่ด้านตะวันออกของยูนาน
“ผลกระทบที่จะมีต่อประเทศไทยก็คือ จะมีผลทำให้เกิดฝนตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภาคอีสานตอนบน รวมถึงบริเวณจังหวัดมุกดาหาร, อำนาจเจริญ, ยโสธร, อุบลราชธานี และศรีสะเกษ
ส่วนในภาคตะวันออก จะเกิดฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุยางิในพื้นที่ จังหวัดระยอง, จันทบุรี, ตราด และ ภาคใต้ฝั่งตะวันตกในจังหวัดระนอง, พังงา, ภูเก็ต และตรัง” นายชวลิตกล่าว
ทางด้านกรมอุตุนิยมวิทยาอัพเดตสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อนวันนี้ว่า พายุดีเปรสชั่น ที่อยู่ทางตะวันออกของฟิลิปปินส์ ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ยางิ (YAGI)” แล้ว กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ ไปบริเวณหัวเกาะลูซอล พายุไม่มีผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย แต่จะช่วยดึงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน อ่าวไทยและทะเลจีนใต้แรงขึ้น ทำให้ด้านรับมรสุมของบ้านเรามีฝนเพิ่มขึ้นและมีตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งอันดามัน และภาคตะวันออก ต้องติดตามและเฝ้าระวัง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 2 กันยายน 2567