"ครั้งแรกตลาดอิรัก" เอกชนมั่นใจโอกาสโตสูง
การแสวงหาโอกาสทางธุรกิจภาคเอกชนไทยต้องคิดต่าง ยิ่งได้นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกโดยกระทรวงการต่างประเทศเป็นธงนำ อะไรๆ ก็เป็นไปได้ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่ใครๆ คิดว่าเข้าไปทำมาค้าขายได้ยากอย่าง "อิรัก"
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ นำภาคเอกชนไทยในสามเซคเตอร์ที่มีศักยภาพทั้งบิ๊กเนมและเอสเอ็มอี สำรวจโอกาสการค้าการลงทุนและจับคู่เจรจาธุรกิจ (business matching) ที่ประเทศอิรัก ได้พบรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงการค้า, กระทรวงการก่อสร้าง และหอการค้าทั้งที่กรุงแบกแดดและเออร์บิล เมืองเอกของเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานระหว่างวันที่ 25-30 ส.ค. ที่ผ่านมา สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น ตลาดอิรักเป็นอย่างไรต้องไปฟังจากผู้ประกอบการ
ก่อสร้างโตรับเทรนด์ฟื้นฟูประเทศ :
ในการเข้าพบรัฐมนตรีหลายๆ กระทรวงนำโดยสุภาค โปร่งธุระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดนซึ่งดูแลอิรักด้วยนั้น ผู้กำหนดนโยบายต่างพูดตรงกันว่า อิรักเป็นประเทศที่กำลังฟื้นตัว ซึ่งผู้ประกอบการไทยก็ได้ประจักษ์กับตาตนเองว่าโครงการก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาแรง
"เอสซีจีมีลูกค้าในตะวันออกกลางอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีในอิรัก ก็ถือว่าเป็นตลาดใหม่ของเรา การมา business matching ที่แบกแดด ได้เจอลูกค้าที่มีศักยภาพหลายราย" กระสุน สกุลพล ผู้จัดการภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกา เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
สอดคล้องกับ ชนิดา หทัยพันธลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี.อาร์.ยูเนี่ยน จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สแตนเลสคุณภาพดี มองว่า อิรักมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากจากการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่นี่
ส่วนการพูดคุยกับภาคธุรกิจที่กรุงแบกแดด และที่เมืองเออร์บิล ชนิดากล่าวว่า ส่วนใหญ่ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพเป็นหลัก แต่ก็มีคู่แข่งจากประเทศจีนที่มีราคาถูกกว่า
“ตอนนี้ต้องหาช่องให้เจอ เพราะบางเจ้าอยากได้สินค้าถูก แต่อาจจะไม่ตรงกับเรา จึงต้องพูดคุยกันถึงคุณภาพ ซึ่งสินค้าของบริษัทก็มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในตลาดหลาย ๆ ประเทศ ดังนั้นการเดินทางมาเยือนอิรักครั้งนี้จึงเป็นหนึ่งในโอกาสที่สำคัญ ที่ทางเอกชนได้มีช่องทางเปิดตลาดมากขึ้น”
อาหารกระป๋องเข้าอิรักมานานแล้ว :
ดร.นพวัชร เจริญสินพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์ แคนเนอรี่ จำกัด โรงงานผลิตปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาแมกเคอเรล และสับปะรดกระป๋อง ส่งออกสินค้ามายังอิรักได้ 2-3 ปีแล้ว แต่เพิ่งเดินทางมาที่นี่เป็นครั้งแรก
“ที่ผ่านมาไม่เคยมาอิรัก แต่ก็มีสินค้ามาอยู่ในตลาดแล้ว โดยเห็นได้จากการลงพื้นที่ไปสำรวจซุปเปอร์มาร์เก็ตของที่นี่ก็เห็นสินค้าของเราวางจำหน่ายอยู่บนชั้นขายสินค้า เลยอยากมาเห็น และจากการได้พบกับลูกค้าที่นี่ก็ดีใจที่ได้พบกันครั้งแรก เพราะลูกค้าไม่เคยเจอกับเรามาก่อน ซึ่งเชื่อว่า การทำตลาดที่นี่การพบหน้ากันจะช่วยสร้างความมั่นใจและต่อยอดตลาดด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ดีมากยิ่งขึ้น และจะช่วยให้อยู่กันไปยาว ๆ”
เช่นเดียวกับโมฮัมหมัด อาลี ข่าน ประธานบริษัทซี . เค. โฟรเซน ฟิช แอนด์ ฟู้ด จำกัด ที่ส่งสินค้ามาอิรัก 15 ปีแล้ว มองว่า อิรักเป็นตลาดปลาน้ำจืดและกุ้งที่มีศักยภาพ และไม่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งตะวันออกกลางที่เกิดขึ้นในขณะนี้
มีปลาต้องมีข้าว :
มณฑิตา สุขสง่า กรรมการบริหาร บริษัท มาดามดู อินเตอร์ฟู้ด จำกัด ผู้ผลิต นำเข้า ส่งออกและจำหน่ายสินค้าแปรรูปทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว ถั่ว ธัญพืช และแป้ง ที่ส่งออกมายังภูมิภาคตะวันออกกลางอยู่แล้วแต่ไม่เคยมาบุกตลาดอิรักเลย พบว่า ที่นี่เป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญ แถมยังมีศักยภาพด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 40 ล้านคน ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังนิยมกินข้าวเป็นหลัก จึงถือว่าเป็นประเทศที่น่าสนใจในการทำตลาด
"ข้าวไทยมีบทบาทในตลาดอิรักมาก โดยอิรักนำเข้าข้าวไทยมานานหลายสิบปี แต่ก็หยุดไปพักหนึ่ง จนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาก็กลับมาทำการค้าอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้มีจำนวนมหาศาล โดยช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2567 ในภาพรวมของไทยก็ส่งข้าวมายังอิรักแล้วกว่า 2 แสนตัน"
โอกาสของบิวตี้โปรดัค :
ยศนนท์ พัฒนศรีโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจบริษัท Unike BioCeutics โรงงานผลิตสกินแคร์และอาหารเสริม นำสินค้าอินโนเวทีฟสกินแคร์ที่พัฒนาขึ้นมาใช้กับวัยทำงานช่วงอายุ 25-40 ปีแบรนด์ Charissy มาสาธิต พบว่า ลูกค้าสนใจสอบถามเรื่องราคา การทำตลาด และการจ้างผลิตสินค้า OEM
“เนื่องจากในอิรักไม่มีการผลิตบิวตี้โปรดัคเลย เขาก็สนใจเรื่อง OEM เพื่อมาทำแบรนด์ในประเทศของตนเอง”
ขณะที่มนสิณีย์ สัตยารักษ์ กรรมการผู้จัดการและบุณยวีร์ วิภาศิริวรรธน์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท Fashionwise Venue Thailand ผู้ผลิตเครื่องหอมและสปาโปรดัค และที่โด่งดังมากในภูมิภาคนี้คือน้ำมันกฤษณา คุณภาพระดับออร์แกนิกส์ บริษัทเคยออกบูธในหลายประเทศตะวันออกกลางมาแล้วจึงตัดสินใจมาอิรักเป็นครั้งแรก สิ่งที่ได้พบดีเกินคาดผู้คนสนใจสินค้าในกลุ่มบิวตี้โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศไทยเพราะเชื่อมั่นในคุณภาพ อย่างไรก็ตามสองสาวเห็นความแตกต่างระหว่างอิรักและเออร์บิล
“ด้วยความที่เออร์บิลเป็นเมืองที่มีผู้คนเข้ามาหลากหลาย เป็นที่จับจ้องของหลายประเทศจึงเหมือนมีทางเลือก ก็สนใจสินค้าไทยแต่ก็ยังเผื่อใจเพราะเขามีทางเลือกมากกว่าที่แบกแดด” บุณยวีร์ตั้งข้อสังเกต
ผู้บริโภคต้องการสินค้าแปลกใหม่ :
กรินทร์ โรจนกิจเกษตร ผู้จัดการแผนกตะวันออกกลางและซีแอลเอ็มวี บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน)
มองว่า ตลาดอิรักมีศักยภาพมากสำหรับสินค้าประเภทเครื่องดื่ม เพราะผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพสูงและยังเปิดกว้างสำหรับสินค้าที่มีความแปลกใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองหลักๆ เช่น แบกแดดและเออร์บิล ที่มีประชากรหนาแน่นและมีกำลังซื้อสูง
“ทั้งสองเมืองนี้มีความสนใจในสินค้าของไทย โดยเฉพาะสินค้าที่เน้นคุณภาพ เอกลักษณ์ และความแปลกใหม่ การทำงานร่วมกับนักธุรกิจท้องถิ่นทำให้เห็นถึงความต้องการที่หลากหลายของตลาด ซึ่งต้องการการปรับกลยุทธ์การตลาดที่เฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละพื้นที่”
นั่นคือมุมมองจากผู้ประกอบการไทยหลังจากได้มาสัมผัสกับอิรักด้วยตนเอง ทั้งหมดมีโจทย์ให้ต้องกลับไปทำการบ้านและมีข้อเสนอแนะฝากไปถึงภาครัฐ เพื่อช่วยกันพัฒนาโอกาสในตลาดอิรักไปถึงผู้ประกอบการไทยรายอื่นๆ ต่อไป
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 3 กันยายน 2567