สินค้าจีนทะลัก4อุตฯ "ไม่รอด" รถ-เหล็ก-ฮาร์ดดิส-ปิโตรฯ
"บล.เกียรตินาคินภัทร" มองผลเลือกตั้งสหรัฐ หาก "ทรัมป์" เป็นประธานาธิบดี กระทบไทยมากสุด จากสงครามการค้ากับจีน จ่อประทุ ชี้ 3 ผลกระทบจากจีน สะเทือน "4 อุตฯใหญ่โลกเก่า" ฝั่ง “ตลาดหุ้นไทย” รับผลทางอ้อม 10 ปี “ไม่ไปไหน” แนะรัฐเร่งหามาตรการปกป้องอุตฯ ที่เป็นกลยุทธ์หลักของไทย
สถานการณ์สินค้าจีนทะลักตลาดโลกเริ่มเห็นภาพที่ชัดต่อผลกระทบภาคการผลิตของไทย โดยหลายอุตสาหกรรมมีการใช้อัตรากำลังการผลิตในระดับต่ำ และได้เรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP เปิดเผยว่า เราประเมินผลการเลือกตั้งในสหรัฐ ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่
ดังนั้น เชื่อว่าคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ของ “สงครามการค้า” (Trade War) ได้ แต่หาก “โดนัลด์ ทรัมป์” มาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ มองว่าผลกระทบกับประเทศไทยจะมากกว่าอย่างแน่นอน
สำหรับผลกระทบจากจีนต่อไทย พบผลกระทบ 3 เรื่อง
1)ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มมีสัญญาณการขาดดุลการค้ากับจีนชัดเจนมากขึ้น โดยมีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น 6 เดือนแรกปีนี้ พบขาดดุลการค้ากับจีนถึง 30,000 ล้านดอลลาร์
2)การตั้งกำแพงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ปริมาณการค้าโลกลดลง ส่งผลทำให้ปริมาณการค้าของไทยมีโอกาสลดลง ขณะที่ต้นทุนของผู้ประกอบไทยสูงขึ้น
3)การที่จีนมาใช้ไทยเป็นทางผ่านการซื้อขายสินค้า รวมทั้งเศรษฐกิจของจีนชะลอตัว ทำให้มีสินค้าราคาถูกจากจีน และแฟลตฟอร์มออนไลน์จากจีนเข้ามาแข่งขันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการลดลง แม้ว่าสินค้าราคาถูกจากจีน จะทำให้การบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นประโยชน์ก็ตาม
“มองว่าหาก ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ เกิดการกำแพงภาษีกับจีนค่อนข้างสูงมาก ทำให้ไทยเป็นทางผ่านในการค้าขาย และการที่เศรษฐกิจจีนไม่ดี การค้าขายในประเทศจีนลดลง การนำสินค้าราคาถูกส่งออกขายทั่วทุกประเทศ รวมถึงไทยก็โดนด้วย" นายพิพัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้แม้ว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการบริโภคเพิ่มขึ้น และมีการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย แต่ซัพพลายเชนของการผลิตยังเป็นจีนทั้งหมด ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่ามาก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจะโดดเข้ามาในซัพพลายเชนนี้ต้องดรัมพ์ราคาสู้ และแบกต้นทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่ขีดความสามารถการแข่งขันยิ่งน้อยลง
4 อุตสาหกรรมเสี่ยงหนัก :
ทั้งนี้ ผลกระทบจากจีนครั้งนี้ จะส่งผลต่อ 4 อุตสาหกรรมใหญ่ของไทยที่น่าเป็นห่วง ได้แก่ เหล็ก รถยนต์ ฮาร์ดดิสท์ไดร์ฟ และปิโตรเคมี ซึ่งล้วนแต่เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิม ,ต้นทุนของผู้ประกอบการไทยเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบกอบการไทยยังมีข้อเสียเปรียบความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะเริ่มเห็นสัญญาณความยากลำบากชัดเจนขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และปิโตรเคมี
อีกทั้ง ด้วยอุตสาหกรรมใหญ่ของไทย ยังเป็นอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม ประกอบกับการที่ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมและปริมาณการค้า ยังไม่กลับมา ดังนั้น ย่อมส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ยังติดกับดักการเติบโตระดับต่ำ ที่ 2-2.5% ตลอดช่วงที่ผ่านมา
ซึ่งแน่นอนว่า ปัญหาดังกล่าวมีผลกระทบทางอ้อมต่อแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ปรับลดลง
รวมทั้งไม่มีการระดมทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมใหม่ๆ จะพบว่า กำไร บจ.ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เติบโต โดยทำให้ตลาดหุ้นไทยไม่เติบโตตามไปด้วย รวมทั้งผลตอบแทนการลงทุน (รีเทิร์น) ในหุ้นไทยไม่เติบโตด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ปัญหาดังกล่าว มองว่า หากเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศควรจะได้รับการปกป้อง หรือความคุ้มครอง เพื่อเป็นการซื้อเวลาระยะหนึ่งให้อุตสาหกรรมดังกล่าวสามารถปรับตัวและพัฒนาต่อไปในระยะข้างหน้าได้
แนะรัฐตั้งกำแพงภาษีสกัดจีน
นอกจากนี้ เสนอแนะว่า ภาครัฐ ควรจะมีการตั้งกำแพงภาษี กับสินค้านำเข้าจีน ที่ตั้งใจขายต่ำกว่าจากต้นทุน และ ควรจะควบคุมคุณภาพสินค้าจีนได้มาตรฐาน เดียวกับสินค้าไทย
พร้อมส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงต่างชาติมาระดมทุนเพิ่ม ทั้งด้วยการเตรียมพัฒนาคนให้พร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานและ การปัญหากฎเกณฑ์และระเบียนต่างๆ เพื่อลดข้อจำกัดการลงทุนของต่างชาติ และทำให้การเมืองในประเทศมีเสถียรภาพ นโยบายเศรษฐกิจไทย ที่จะทำใน 10 ปีข้างหน้าต้องชัดเจน
“ปัญหาดังกล่าวมองว่า หากเป็นอุตสาหกรรมกลยุทธ์หลักของประเทศควรจะได้รับการปกป้อง หรือ ความคุ้มครอง เพื่อซื้อเวลาระยะหนึ่งให้อุตสาหกรรมดังกล่าวพัฒนาต่อไปข้างหน้า และ ภาครัฐควรจะมีการตั้งกำแพงภาษีกับสินค้านำเข้าจีนที่ตั้งใจขายต่ำกว่าจากต้นทุน และ ควบคุมคุณภาพได้มาตรฐานเดียวกับสินค้าไทยหรือไม่ พร้อมส่งเสริมการลงทุนดึงต่างชาติ เช่น แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหากฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ”
นอกจากนี้ด้วย ด้วยการแข่งขันจากจีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน สุดท้ายผู้ประกอบการไทย ต้องปรับตัวให้อยู่รอด เช่น ทำอะไรที่ไม่ได้กำไรต้องยอมสละและพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นให้ได้ มีการลงทุนอินโนเวชั่นใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนมาแข่งขันด้วยการผลิตและขายสินค้าค้าคุณภาพสูงขึ้น อย่างเช่น ธุรกิจปิโตรเคมีนั้นอาจปรับยาก จึงต้องหาสิ่งที่เป็นไฮ แวลู (High Value) ใหม่ๆ
“อุตสาหกรรมหลักของไทยตอนนี้ ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมโลกเก่า อย่างรถยนต์ และฮาร์ดดิสไดร์ฟ เหมือนบุญเก่ากำลังหาย ขณะที่บุญใหม่ยังมาไม่ทัน มองว่า เราควรจะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งต้องปกป้องบุญเก่า และต้องสร้างบุญใหม่ไปพร้อมกัน ซึ่งคงต้องใช้เวลากำหนดเป็นแผนระยะยาวและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 3 กันยายน 2567