คลังเร่ง กฎหมายเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ เริ่มปี 68 เงินเข้าประเทศเพิ่มปีละหมื่นล้าน
คลังเร่งเครื่องออก พ.ร.ก.เก็บภาษีบริษัทใหญ่ข้ามชาติที่ได้ BOI ให้ถึงอัตราขั้นต่ำ 15% ตามแนว OECD ต้องเร่งดีเดย์ปี 2568 หวั่นไทยเสียประโยชน์ เหตุ "ญี่ปุ่น-เวียดนาม" ล่วงหน้าระบบภาษีใหม่ปีนี้แล้ว ส่วน “สิงคโปร์-มาเลเซีย” เดินหน้าปีหน้า “พิชัย ชุณหวิชร” บินถก OECD ก.ย.นี้ คาดเม็ดเงินภาษีเข้าประเทศเพิ่มปีละกว่าหมื่นล้าน พร้อมแบ่งเข้ากองทุนเพิ่มขีดแข่งขันฯ ด้าน BOI เตรียม 2 มาตรการจูงใจชดเชยเก็บภาษี สรรพากรเปิดฟังความเห็นยักษ์ข้ามชาติของไทย “SCG-ไทยเบฟ-ซี.พี.-ปตท.”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เรียกว่า “Pillar 2” ของกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไร ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อหยุดการแข่งขันทางด้านภาษี เพื่อดึงดูดการลงทุน และป้องกันการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติที่อาจย้ายกำไรไปยังบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีภาษีต่ำ
โดยกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก หรือ Global Minimum Tax (GMT) ที่ 15% สำหรับบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้รวมเกิน 750 ล้านยูโรต่อปี (ราว 28,500 ล้านบาท) ส่งผลให้หลายประเทศต้องปรับตัว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ Tax Haven และ ประเทศไทยซึ่งเป็น “ภาคีความร่วมมือทางภาษี” ของ OECD ก็ต้องดำเนินการตามข้อตกลงเช่นกัน
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะมีการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 20% แต่บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี ทำให้อัตราภาษีที่แท้จริงอยู่ต่ำกว่า 15%
บริษัทดังกล่าวจึงจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่ม (Top-up Tax) เพื่อให้ถึงขั้นต่ำที่ 15% จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายของหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย โดยประเทศที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการระบบภาษีใหม่ได้ทันทีในปี 2567 ทำให้หลาย ๆ ประเทศต้องเร่งเครื่องปฏิรูปภาษีระหว่างประเทศ และมาตรการดึงดูดการลงทุนใหม่
สรรพากรเร่งรื้อระบบภาษี :
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างผลักดันออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำจากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เพื่อลดการแข่งขันทางภาษีระหว่างประเทศ
โดยกำหนดให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate) ไม่น้อยกว่า 15% ซึ่งเดิมจะเสนอออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีส่วนเพิ่ม แต่ต้องใช้เวลานาน และต้องเร่งให้เริ่มจัดเก็บในปีภาษี 2568 นี้ จึงจะออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แทน
“เราต้องการเก็บให้ทันปีหน้า เพราะตอนนี้ญี่ปุ่นกับเวียดนามเริ่มใช้ระบบภาษีใหม่แล้วตั้งแต่ปี 2567 และทางสิงคโปร์กับมาเลเซียก็ประกาศแล้วว่า ปี 2568 จะเริ่มเก็บ ดังนั้น หากเราไม่เริ่มเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติที่ 15% เราจะเสียประโยชน์
เพราะทาง OECD กำหนดว่า หากประเทศที่บริษัทข้ามชาติไปลงทุนไม่เก็บภาษีส่วนเพิ่ม หรือยกเว้นภาษีให้บริษัทนั้น ๆ ประเทศแม่ของบริษัทนั้น ๆ สามารถจัดเก็บภาษีได้ทันที เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดร่วมกันที่จะต้องจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขนาดใหญ่ไม่น้อยกว่า 15%”
ยกตัวอย่างกรณีบริษัทยักษ์ข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย อาทิ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ หรือค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ของญี่ปุ่นที่ปัจจุบันได้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่า 15% ภายใต้ พ.ร.ก.ใหม่ที่กรมสรรพากรกำลังเร่งดำเนินการ จะทำให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ต้องเสียภาษีเพิ่มให้ถึง 15%
โดยหากประเทศไทยยังไม่มีการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มดังกล่าว ทางประเทศญี่ปุ่นก็จะต้องจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มดังกล่าว เพื่อให้บริษัทยักษ์ข้ามชาติเสียภาษีเงินได้ 15% ตามแนวทาง OECD ซึ่งก็จะทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์ไม่ได้เม็ดเงินภาษี ดังนั้น จึงต้องเร่งออกกฎหมายให้บังคับใช้ในปีภาษี 2568
แบ่งเงินภาษีเข้ากองทุน BOI :
แหล่งข่าวกระทรวงการคลังกล่าวว่า การเก็บภาษีดังกล่าวจะเก็บจากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย ที่มีการลดหรือได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อจูงใจให้เข้ามาลงทุน
ดังนั้น เมื่อมีการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มนี้ตามข้อตกลง OECD เงินส่วนหนึ่งที่ได้นอกจากจะเข้าคลังแล้ว จะต้องแบ่งไปเข้ากองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ไปดำเนินมาตรการอื่น ๆ เพื่อจูงใจให้บริษัทข้ามชาติที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศยังลงทุนในไทย
บิ๊กคอร์ปไม่ขัดข้อง :
แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะเดียวกัน ในส่วนของบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยที่เข้าข่ายตามเงื่อนไขบริษัทข้ามชาติไปลงทุนต่างประเทศ และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากประเทศนั้น ๆ ก็จะถูกเรียกเก็บภาษีส่วนเพิ่มดังกล่าวเช่นกัน โดยที่ผ่านมากรมสรรพากรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ร่วมแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะต่อหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร เมื่อช่วงวันที่ 1-15 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
รวมถึงได้รับฟังความคิดเห็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ของไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศแล้วเช่นกัน อาทิ เครือปูนซิเมนต์ไทย (SCG), เครือไทยเบฟ, เครือ ซี.พี., กลุ่มบริษัท ปตท. เป็นต้น ซึ่งบริษัทเหล่านี้ไม่ขัดข้อง
“พิชัย” บินถก OECD ก.ย.นี้ :
แหล่งข่าวกล่าวว่า การจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มดังกล่าวเป็นส่วนของ “Pillar 2” ของกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไร ส่วน “Pillar 1” ที่เป็นการจัดสรรกำไรและสิทธิการจัดเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่นั้น ปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดจัดเก็บ
แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่า ในเดือน ก.ย.นี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดการไปร่วมประชุม OECD ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจะหารือกันเรื่องการเก็บภาษี “Pillar 2” นี้ โดยจะมีรายงานที่ประชุมถึงความคืบหน้ากระบวนการออกกฎหมายเพื่อเก็บภาษีของไทย
“เรากำลังออก พ.ร.ก. แต่ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีเสียก่อน ทำให้กระบวนการออกกฎหมาย ต้องรอมี ครม.ชุดใหม่ก่อน” แหล่งข่าวกล่าว
นอกจากนี้ รายงานข่าวระบุว่า หากกรมสรรพากรเริ่มมีการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มดังกล่าว ประเมินว่าจะทำให้จัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นระดับหมื่นล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ดี ต้องดูรายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงอนุสัญญาภาษีซ้อนของแต่ละประเทศด้วย
BOI เตรียม 2 มาตรการดึงลงทุน :
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กติกา Global Minimum Tax (GMT) จะใช้บังคับเฉพาะกับกลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้ของทั้งเครือในช่วงเวลาอย่างน้อย 2 ปี จาก 4 ปีบัญชีล่าสุดเกิน 750 ล้านยูโรต่อปี หรือประมาณ 30,000 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น ดังนั้น ในกรณีบริษัทที่ไม่เข้าข่าย GMT ก็ยังคงสามารถรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามปกติได้
สำหรับบริษัทที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี GMT ซึ่งจะต้องเสียภาษีขั้นต่ำ 15% ทาง BOI ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้ 2 ส่วนคือ
1)มาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากแนวทางการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ (ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 1/2566 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2566) เปิดโอกาสให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 50% ของอัตราปกติ แทนการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
โดยจะให้ระยะเวลาลดหย่อนนานขึ้น 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10 ปี เพื่อให้การคำนวณอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate : ETR) ของบริษัทในแต่ละปีใกล้เคียง 15% ก็จะทำให้เสียภาษีส่วนเพิ่มลดลง และได้รับสิทธิประโยชน์ในระยะเวลานานขึ้น
2)มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อบรรเทาผลกระทบจาก Global Minimum Tax โดยจะดำเนินการผ่านกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
อุดหนุนค่าใช้จ่าย R&D :
นายนฤตม์กล่าวว่า สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้ BOI ซึ่งจะให้เงินสนับสนุน (Grant) สำหรับการลงทุน หรือค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามที่กำหนด เช่น ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร การปรับปรุงประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ การลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการยกระดับมาตรฐานที่เป็นสากล เป็นต้น
“ขณะนี้มาตรการที่ 1 เริ่มใช้แล้ว มีนักลงทุนสนใจยื่นขอบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังรอความชัดเจนของกฎหมายจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มก่อน เพราะมาตรการนี้เปิดโอกาสให้รายเดิมมาขอปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ได้ด้วย ส่วนมาตรการที่ 2 อยู่ในขั้นเตรียมการ จะเริ่มใช้พร้อมกับกฎหมายจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มของกระทรวงการคลัง”
ที่มา-ที่ไป ต้องเร่งเก็บภาษี :
แหล่งข่าวกล่าวว่า การปฏิรูปภาษีระหว่างประเทศดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ที่ประชุมกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไร ซึ่งมีสมาชิกกว่า 140 เขตเศรษฐกิจ รวมทั้งประเทศไทย ได้มีมติเห็นชอบแนวทาง 2 เสาหลักในการจัดการความท้าทายทางภาษีที่เกิดจากเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเป็นแนวทางการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งประกอบด้วย
1)Pillar 1 การจัดสรรกำไรและสิทธิการจัดเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติ (Multinational Enterprises (MNEs)) ขนาดใหญ่ เพื่อให้มีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และ
2)Pillar 2 การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) จากกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่ เพื่อลดการแข่งขันทางภาษีระหว่างประเทศ (Tax Competition) โดยกำหนดให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่เสียภาษีเงินได้ในอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate (ETR)) ไม่น้อยกว่า 15%
ทั้งเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของไทย ได้มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เสนอมาตรการรองรับ Global Minimum Tax ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรดำเนินการตรากฎหมาย หรือกำหนดแนวทางการดำเนินการตามความเหมาะสม โดย
1)การจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มตามหลักการของ Pillar 2,
2)จัดสรรรายได้จากการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มตามหลักการ ให้แก่กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในอัตราอย่างน้อย 50% แต่ไม่เกิน 70% ของเงินรายได้ดังกล่าว และ 3.จัดส่งข้อมูลผู้ชำระภาษีส่วนเพิ่มให้แก่บีโอไอ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 4 กันยายน 2567