เปิดนโยบายรัฐบาลเร่ง New Growth Engine ดันไทยพ้นกับดัก "รายได้ปานกลาง"
รัฐบาล "แพทองธาร" เร่งสร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ ดันไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ต่อยอด "อีวี-เซมิคอนดักเตอร์" สู่ศูนย์กลางการเงินโลก สร้างอุตสาหกรรมสีเขียว เร่งเมกะโปรเจ็กต์คมนาคม คุมจัดสรรคลื่นความถี่-วงโคจรดาวเทียมดันเศรษฐกิจ ชี้ไม่ทำอะไรจีดีพีจะโตต่ำกว่า 3%
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษวันที่ 7 ก.ย.2567 เพื่อหารือร่างนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 ก.ย.2567
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ขอให้รัฐมนตรีเตรียมชี้แจงตอบคำถามในประเด็นนโยบายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งช่วยกันสื่อสารและขยายผลนโยบายในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้าราชการและประชาชนเข้าใจนโยบายรัฐบาลมากขึ้น
สำหรับร่างนโยบายรัฐบาลกำหนดนโยบายเร่งด่วนที่ดำเนินการทันที 10 นโยบาย เช่น การแก้ปัญหาหนี้ครบวงจร การลดราคาพลังงานเพื่อลดค่าครองชีพ การแก้ปัญหายาเสพติด
ขณะที่การขับเคลื่อนนโยบายระยะกลางและระยะยาวมีแผนที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ (Industry Transformation) และพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ (New Growth Engine) ที่จะปูพื้นฐานให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เพื่อเร่งให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางโดยเร็ว
สำหรับการสร้าง New Growth Engine จะเริ่มจากการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม โดยรัฐบาลส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์แ่หงอนาคต (HEV , PHEV , BEV และ FCEV) โดยเร่งดึงนักลงทุนจากต่างประเทศมาตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทยด้วยแนวทางที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ
รวมทั้งจะส่งเสริมโอกาสอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy or Eco-friendly Economy) ที่อาศัยจุดแข็งของที่ตั้งใกล้เส้นศูนย์สูตรเข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์ได้ตลอดทั้งปี สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด รวมถึงต่อยอดเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เช่น การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตฮาร์ดดิสก์ ให้เป็นอุตสาหกรรมดิจิทัลสมัยใหม่ จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศตั้ง Data Center และโรงงานผลิตชิปและชิปดีไซน์ และผลิต Semiconductor
นอกจากนี้ จะพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ (Care and Wellness Economy) และบริการทางการแพทย์ (Medical Hub) โดยอาศัยพื้นฐานการบริการของคนไทยที่ได้รับการยอมรับเพื่อต่อยอดจากธุรกิจการท่องเที่ยว เชิงสุขภาพและการแพทย์แผนไทยที่เป็นจุดแข็ง เพื่อรองรับความต้องการด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น
ดันไทยขึ้นศูนย์กลางการเงินโลก :
รัฐบาลมุ่งสู่เป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลำง กำรเงินของโลก (Financial Hub) โดยรัฐบาลจะผลักดันการยกร่างกฎหมายชุดใหม่ที่มีความเป็นสากล โปร่งใสและเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ
รวมทั้งออกแบบสิทธิประโยชน์ที่จูงใจนักลงทุน และพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงิน โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐาน ที่ทันสมัยให้สอดรับกับความต้องการของบริษัทด้านการเงินระดับโลก
นอกจากนี้รัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาส โดยรัฐบาลจะเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ (Mega Projects) อย่างต่อเนื่องทั้งทางราง ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยทางถนน ลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ พัฒนาระบบขนส่งควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain)
สร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงควบคู่กับการพัฒนาเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ ยกระดับท่าเรือเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า
พัฒนาสนามบินและเส้นทางการบินใหม่ เช่น สนามบินล้านนา สนามบินอันดามัน เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) เพิ่มประตูบานใหม่ (Gateway) รองรับความต้องการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนโครงการ Landbridge โดยเฉพาะด้านการลงทุน โดยเอกชน เพื่อให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งของภูมิภาค (Logistics Hub)
คุมจัดสรรคลื่นความถี่และวงโคจรดาวเทียม :
รัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยกำกับดูแลให้เกิดการจัดสรรคลื่นความถี่และสิทธิในวงโคจรดาวเทียมให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่มีคุณภาพ มั่นคง ปลอดภัย ครอบคลุม เพียงพอ และเข้าถึงได้ทั้งในด้านพื้นที่และราคา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
ตลอดจนสร้างระบบนิเวศเพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ของโลกลงทุนในอุตสาหกรรมที่จะเอื้อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมดิจิทัล ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ห่วงเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่า 3% :
รวมทั้งในช่วงท้ายของร่างนโยบายได้ระบุถึงการบริหารงานของรัฐบาลจะเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ซึ่งเป็นปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่สั่งสมต่อเนื่องมากว่า 10 ปีและถูกซ้ำเติมด้วยโควิด-19 ทำให้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หากไร้มาตรการทางการเงินและการคลังที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คาดว่าประเทศจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับไม่เกิน 3% ซึ่งจะส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศใกล้เต็มเพดานที่ 70% ของ GDP ในปี 2570 จึงเป็นความท้าทายที่รัฐบาลจะต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาเติบโตอย่างเข้มแข็งอีกครั้งโดยเร็ว
โดยการแสวงหาโอกาสใหม่ที่จะเพิ่มรายได้ทั้งในระดับประเทศและระดับปัจเจกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ การยกระดับ ภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ รวมถึงการเร่งบริหารทรัพย์สินของรัฐให้ได้ประโยชน์สูงสุด
รวมทั้งการดำเนินการดังกล่าวจะกลายเป็นเม็ดเงินกลับเข้าสู่ระบบภาษีและจะกลายเป็นศักยภาพทางนโยบายการคลัง (Fiscal Space) ที่เพียงพอสำหรับการเป็นแกนหลักในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 9 กันยายน 2567