"ส.อ.ท." หวังรัฐเร่งเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ วอนทบทวนขึ้นค่าแรง 400 บาท
ส.อ.ท. ระบุ นโบายรัฐบาลใหม่ต้องรีบทำ ทุกกระทรวงเดินหน้าไปทิศทางเดียวกัน ส่วนนโยบายลดต้นทุน การขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ควรเป็นไปตามกลไกที่เหมาะสม รอเม็ดเงินอัดฉีดภาครัฐเข้าถึงประชาชน เศรษฐกิจฟื้นตัว "เอสเอ็มอี" แข็งแรงค่อยปรับขึ้นก็ยังไม่สายเกินไป
รัฐบาลโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้จัดพิมพ์ร่างนโยบายเพื่อส่งให้สำนักเลขาธิการสภา เตรียมแถลงวันที่ 12 ก.ย.2567 ระบุ “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาค ทางเศรษฐกิจและสังคม” โดยกำหนดนโยบายเร่งด่วน 10 นโยบาย สำคัญ ที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องของความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาหนี้สิน การเพิ่มรายได้ ค่าครองชีพ รวมถึงการลดต้นทุน เป็นต้น
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นโยบายด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เตรียมจะแถลงต่อรัฐสภาประมาณ 10 ข้อ นั้น ทุกข้อล้วนเป็นนโยบายที่ดีหมด แต่ต้องรีบทำ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกกระทรวงต้องเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน และขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ ส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะดี เพราะในเบื้องต้นเมื่อได้รัฐบาลใหม่ การตอบรับความมั่นใจก็สะท้อนตัวเลขในตลาดหุ้น ทุกคนเริ่มมีความหวังเพิ่มมากขึ้น
ค่าแรง400 บาททั่วประเทศต้องค่อยเป็นค่อยไป :
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนโยบายลดต้นทุนผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดความสามารถทางการแข็งขันได้นั้น ส.อ.ท. อยากให้ครอบคลุมเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศด้วย เพราะในเรื่องของต้นทุน ไม่ใช่เฉพาะค่าพลังงาน ค่าสาธารณูปโภค อัตราดอกเบี้ย หรือต้นทุนการเงิน ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส.อ.ท. มีความยินดีที่จะปรับขึ้น แต่การปรับขึ้นจะต้องเป็นไปตามกลไกและเวลาที่เหมาะสม
ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศนั้น จึงไม่ต่างกับเจตนารมณ์และนโยบายรัฐบาล ซึ่งค่าแรงได้มีการปรับขึ้นมาแล้ว แต่ ส.อ.ท.อยากให้ปรับให้เหมาะสมตามกลไกที่มีอยู่ ดังนั้น หากเศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวตามการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐแล้ว กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเริ่มมีกำลังมากขึ้น ค่อยปรับขึ้นก็ยังไม่สายเกินไป
ยันนโยบาย Pay by skill จ้างตามทักษะ :
นอกจากนี้ จากกลของคณะกรรมการไกไตรภาคี ถือเป็นเสียงสะท้องทั้ง 3 ฝ่ายที่เหมาะสม ตรงกับสถานการณ์จริง เพราะเมื่อได้รัฐบาลแล้ว มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ แล้ว เมื่อเอสเอ็มอี กลุ่มเปราะบางจำนวนมาก ที่ยังอยู่ด้วยเศรษฐกิจมูลค่าต่ำ หรือการทำสินค้ามูลค่าต่ำ ส่วนใหญ่ใช้แรงงานจำนวนมากซึ่งยังเป็นต้นทุนหลักที่สูงให้ได้ฟื้นตัวก่อน รอจังหวะที่เหมาะสม เศรษฐกิจประเทศก็จะขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ
“สิ่งที่จะทำควบคู่กันไปได้ตามนโบายที่ส.อ.ท. ได้เคยนำเสนอ คือ Pay by skill จ่ายตามทักษะ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐต้องเร่งหาโปรแกรมยกระดับมาตรฐานแรงงาน ยิ่งมาตรฐานแรงงานมีทักษะสูงจะไปรอบรับอุตสาหกรรมที่มีรายได้ดีขึ้น และพร้อมที่จะจ่าย เพราะปัจจุบันในอุตสาหกรรมใหม่มีศักยภาพด้านเงินทุนที่สามารถจ่ายได้ในค่าแรงที่สูง โดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องไปทำเรื่อง Up-skill และ Re-skill” นายเกรียงไกร กล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 10 กันยายน 2567