มติชน-กมธ.อว. บูม PCB สัมมนาปั้นเศรษฐกิจแสนล้าน
เครือมติชนจับมือ กมธ.อว. จัดสัมมนา "ฝ่าวิกฤต ปั้น PCB เศรษฐกิจแสนล้าน" วันที่ 17 กันยา นี้ ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กทม. ตั้งเป้าผลักดันอุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มส่วนแบ่งตลาด สร้างอนาคตของประเทศ พร้อมเปิดผลการศึกษาละเอียดยิบภายในงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือมติชนร่วมกับคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนาเรื่อง “ฝ่าวิกฤต ปั้น PCB เศรษฐกิจแสนล้าน” ในวันอังคารที่ 17 กันยายน 2567 เวลา 09.00-13.00 น. ณ ห้องอินฟินิตี้ โรงแรมพูลแมน ถนนรางน้ำ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
การสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นเนื่องจากเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board) หรือ PCB เป็นภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงมีอัตราการเติบโตรวดเร็วและต่อเนื่อง ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดทั่วโลกอยู่มากกว่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่จากผลกระทบปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น ทำให้นักลงทุนมีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ ซึ่งคาดว่าในอีก 2-3 ปี จะมีกลุ่มผู้ประกอบการและผู้ผลิตวัตถุดิบมากกว่า 100 แห่งเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ :
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรม PCB, Printed Circuit Board Assembly (PCBA) และ Electronics Manufacturing Services (EMS) ในไทยกำลังประสบปัญหาหลายประการ อาทิ การขาดศูนย์กลางประสานงานข้อมูล, การขาดแคลนบุคลากรคุณภาพ รวมถึงข้อจำกัดในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อนหรือเทคโนโลยีขั้นสูง เนื่องจากไม่สามารถผลิตสินค้าตัวอย่างเพื่อวิจัยและพัฒนาได้
บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เห็นความสำคัญของอุตสาหกรรม PCB ที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศได้อย่างมหาศาล จึงได้จัดงานสัมมนาครั้งนี้ขึ้น
“ฐากร-นพ.สรณ” ขึ้นปาฐกถา :
สำหรับกำหนดการการสัมมนาเริ่มต้นด้วยการปาฐกถาพิเศษของนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.อว.) ขึ้นปาฐกถาพิเศษ และศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ต่อมา กมธ.อว.นำเสนอรายงานการศึกษา โดยนายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.อว.) และเปิดเวทีเสวนา 2 เวที โดยเวทีแรกมีวิทยากร ประกอบด้วย นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ ผศ.ดร.เลิศศักดิ์ เลขวัต รักษาการผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
บิ๊กอีอีซี-นายกรถไฟฟ้าขึ้นเวที :
การเสวนาเวทีที่ 2 มีวิทยากร ประกอบด้วย นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นายพงษ์ชัย อมตานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายสุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย
สำหรับอุตสาหกรรมแผ่นวงจรพิมพ์ หรือ PCB ถือเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ และเป็นอุตสาหกรรมแขนงสำคัญของประเทศไทย ที่น่าจะต้องมีการพัฒนา และส่งเสริมเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ วงจรพิมพ์นี้ทำหน้าที่เป็นฐานในการประกอบและเชื่อมต่อวงจรไฟฟ้าของอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ บอร์ดประมวลผลในรถยนต์ (ECU) อุปกรณ์ทางการแพทย์ AI Server และอุปกรณ์รับส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีบริษัทต่างชาติสนใจลงทุนตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย
คาด 2 ปีตลาดรวม 3 ล้านล้าน :
อุตสาหกรรมนี้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและเปลี่ยนผ่านศักยภาพการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลแบบดั้งเดิม ไปสู่มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่ของประเทศ โดยขณะนี้ตลาด PCB ทั่วโลกเติบโต คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 3 ล้านล้านบาท หรือ 86.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2026 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ 3.3% ตั้งแต่ปี 2021 ถึงปี 2026
ปัจจุบันนี้ไทยมีส่วนแบ่งการตลาด ในการผลิต PCB อยู่ที่ 4% แต่ถ้ามีการลงทุนจากต่างประเทศ มีการเปิดโรงงานมากขึ้น จะทำให้มาร์เก็ตแชร์พุ่งได้ถึง 10-15% ไปยืนใกล้เคียงประเทศผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ อย่างจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นได้
เผยมีอีก 10 รายจ่อลงทุนไทย :
ด้านความคืบหน้าแผนสนับสนุนอุตสาหกรรม PCB รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้านโยบายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมแผ่นวงจรพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทชั้นนำรายอื่น ๆ ให้เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย รวมทั้งส่งเสริมการขยายลงทุนของรายเดิม โดยให้สิทธิประโยชน์เป็นขั้นบันไดสำหรับการลงทุนเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนสูง
“ภาครัฐยังส่งเสริมผู้ผลิตไทยให้เกิดการจับคู่ธุรกิจและเข้ามาอยู่ในซัพพลายเชนระดับโลก คาดว่าจะดึงดูดการลงทุนจากอุตสาหกรรม PCB รายใหญ่ของโลกได้อีก 10 ราย สร้างคลัสเตอร์ PCB และจะลงทุนเพิ่มขึ้นในส่วนแรกไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เป็นโอกาสให้ไทยเติบโตเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลกในอนาคต”
ส่งออก ก.ค.โตพุ่งเกือบ 10% :
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรม PCB ของไทย มีสัญญาณขยายตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากเดือน ก.ค. 2567 PCB มีมูลค่าส่งออก 120.22 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.16% การนำเข้ามีมูลค่า 285.24 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 98.88% โดย สศอ.ประเมินสถานการณ์อุตสาหกรรม PCB ปี 2567 จะมีมูลค่าการส่งออกขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งมาจากการที่อุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ เริ่มได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2566 แต่ยังต้องใช้เวลาในการเตรียมพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี แรงงาน และการจัดการด้านต่าง ๆ เช่น การใช้สิทธิทางภาษีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นต้น
ดังนั้นหากในอนาคตการผลิตเกิดขึ้นเต็มกำลังการผลิต การส่งออกจะขยายตัวได้ เนื่องจากวงจรพิมพ์นับเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 11 กันยายน 2567