หอการค้า กางดัชนีความเชื่อมั่น ส.ค. ดิ่งหมด ต่ำสุด 13 เดือน หวังแจกเงินช่วยดึงไหว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2567 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 56.5 จากระดับ 57.7 เทียบกับเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ถือเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 โดยพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 50.2 ลดลงจาก 51.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 53.9 ลดลงจาก 54.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 65.6 ลดลงจาก 66.8 ซึ่งดัชนีทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เช่นเดียวกัน
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อไปว่า การที่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ เนื่องจากยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนของรัฐบาลใหม่ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อไปว่า แอบหวังว่าในเดือนกันยายนนี้ มีความท้าทายสำคัญ คือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายนนี้ มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากประชาชนมีความหวังเรื่องการรับเงิน 10,000 บาท ที่จะแจกเป็นเงินสดให้กับกลุ่มเปราะบาง 14-15 ล้านคนในกลุ่มแรกก่อน ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะเป็นส่วนช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2567 นี้ได้ เพราะวงเงิน 140,000 ล้านบาท หากถูกใช้ 20-30% ของวงเงินเท่านั้น จะทำให้เงินสะพัดทันที 3-5 หมื่นล้านบาทได้เป็นอย่างน้อย เพราะปกติหากคนได้รับเป็นเงินสดจะใช้ทันที ส่วนจะมีผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกันยายนนี้ ปรับสูงขึ้นได้เท่าใดนั้น ยังต้องติดตาม แต่อย่างน้อย มั่นใจว่าจะเป็นดัชนีแรกๆ ที่สามารถสะท้อนให้เห็นบรรยากาศทางเศรษฐกิจจริงของประเทศได้
“จากนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลในภาพรวมแล้ว เพราะยังมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในขณะที่ผู้ประกอบการยังมีความไม่พร้อมเต็มที่ อาจเป็นจุดเปราะบาง เพราะมีผลให้คนกังวลในนโยบายได้ ทั้งต้องติดตามทิศทางน้ำท่วม การท่องเที่ยว การส่งออก และการใช้จ่ายเงินของรัฐ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4/2567 ที่สัญญาณทั้งหมดจะถูกชี้ชัดออกมามากขึ้น โดยการมีดิจิทัลวอลเล็ต คาดว่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยปี 2567 เติบโตที่ 2.8% ส่วนจะโตแตะ 3% ได้หรือไม่ มีโอกาสเป็นไปได้ แต่ต้องยอมรับว่าไม่ง่าย ต้องทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง โตได้ถึง 4% เพราะปีแรกโต 1.9% เท่านั้น โดยในขณะนี้มองว่าปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง มีเพียงเรื่องเดียวคือ ดิจิทัลวอลเล็ต ขณะที่การส่งออกก็ไม่ได้เติบโตอย่างโดดเด่นมากนัก แต่หากไม่มีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียง 2.4-2.6%” นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อไปว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ช่วงที่สำรวจข้อมูล 22-30 สิงหาคม 2567 จำนวนตัวอย่าง 369 ตัวอย่าง ดัชนีปรับลดลงมาที่ระดับ 50.5 จากระดับ 52.2 เทียบกับเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยลบหลักๆ เป็นความไม่แน่นอนทางการเมือง การดำเนินนโยบายภาครัฐ ดอกเบี้ยยังคงในระดับเดิม สภาพอากาศที่แปรปรวน เกิดน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก กระทบธุรกิจและครัวเรือนของประชาชน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ สงครามกลางเมืองในหลายประเทศ และความกังวลจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้มีการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้น
“การเมืองแม้ดูเหมือนมีเสถียรภาพ ในการจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เป็นความกังวลของคนทั่วไป เพราะยังมีนักร้องจากสมาคมต่างๆ ออกมามากมาย รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลที่ยังมีบาส่วนไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาลในบางพรรคการเมือง อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งส่วนนี้เป็นตัวกำหนดทิศทางของการลงทุน และการจับจ่ายใช้สอยต่างๆ” นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อไปว่า แนวทางการแก้ไขปัญหา ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำ เน้นการวางแผนระยะยาว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำซาก เร่งดำเนินนโยบายต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน การส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วไทยในช่วงปลายปี ส่งเสริมสินค้าของไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลกได้ และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนขยายฐานการผลิตในประเทศไทย การควบคุมต้นทุนราคาที่เป็นปัจจัยการผลิต เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ มาตรการควบคุมตลาดขายสินค้าออนไลน์ และปริมาณของสินค้าจีนที่เข้ามามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 12 กันยายน 2567