วิเคราะห์สาเหตุ ห้างไทยเก่าแก่ ทยอยปิดตัวลง
นักวิชาการ ร่วมวิเคราะห์ห้างไทย สาเหตุหลักทยอยปิดตัว เผชิญความแข่งขันสูงขึ้น - ต้องใช้เงินลงทุนในการบริหารจัดการธุรกิจระดับสูง
ในช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมามีหลายข่าวของธุรกิจไทยทยอยการปิดตัวลง รวมถึงธุรกิจค้าปลีกในต่างจังหวัดหลายแห่ง ต้องเผชิญผลกระทบของตลาดแข่งขันที่มีมากขึ้น พฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าที่แปรเปลี่ยนไป และตลาดอีคอมเมิร์ซที่มาแรง รวมถึง การลงทุนในธุรกิจรีเทลอยู่ในระดับสูง จากการที่ต้องการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ต่อเนื่อง
หากนับรวมการปิดสาขาของรีเทลในไทยในช่วงที่ผ่านมา มีตั้งแต่ห้าง "แฟรี่แลนด์" จังหวัดนครสวรรค์, การปิดสาขาของ "ศูนย์การค้ากาดสวนแก้ว" เชียงใหม่, ห้างพรอมเมนาดา เชียงใหม่ และ "ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี" ทำให้มีการประเมินถึงแนวโน้มของตลาดค้าปลีกไทย และวิเคราะห์สาเหตุในการปิดสาขาลงในช่วงที่ผ่านมา
นายธนินท์รัฐ ภักดีภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจค้าปลีก และบริหารศูนย์การค้า ฉายภาพธุรกิจค้าปลีกของประเทศไทย ประเมินถึงธุรกิจค้าปลีกของประเทศไทยจำนวนหลายแห่งที่อยู่มายาวนาน และต้องปิดตัวลงไปหลายแห่งแล้ว ตั้งแต่ ศูนย์การค้ากาดสวนแก้ว เชียงใหม่ ศูนย์การค้าตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี และพรอมเมนาดา เชียงใหม่ มีหลายปัจจัยประกอบกัน
ทั้งนี้ การบริหารธุรกิจค้าปลีก และบริหารศูนย์การค้า มีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงตลอดเวลา ประกอบด้วย
1)รับบริหารงานที่ดี มาตรฐาน ตั้งแต่ บริหารกระแสเงินสด บริหาร รายได้ ต้นทุน ของธุรกิจ รวมถึง การพัฒนาบุคลากร และกิจกรรมตลาดที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มอาชีพ
2)เงินทุน ที่แข็งแกร่ง บริหารเงินทุนที่เหมาะสม ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ตลอดเวลา
3)ความรู้ และประสบการณ์ของผู้บริหารระดับสูง และทีมงาน ต้องเข้าใจธุรกิจเป็นอย่างดีมาก
4)ทำเลที่ตั้ง ของศูนย์การค้า ต้องอยู่ใจกลางชุมชนขนาดใหญ่ ที่มีกลุ่มลูกค้าทุกสาขาอาชีพ ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
5)กลุ่มลูกค้าที่ต้องการ ต้องชัดเจน รวมถึงต้องเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าในทำเลที่ตั้งแต่ละแห่ง อย่างถ่องแท้
6)ธุรกิจนี้ มีการเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหวตลอดเวลาในทุกด้าน ดังนั้น ทีมผู้บริหารต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาสถานภาพของศูนย์การค้าให้สามารถดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
ศูนย์การค้ากาดสวนแก้ว :
กรณีศึกษาของ ศูนย์การกาดสวนแก้ว มีเนื้อที่รวมประมาณ 48ไร่ เป็นโครงการมิกซ์ยูส ที่ดำเนินธุรกิจมา 32 ปี โดยมีตั้งอยู่ทำเลที่ตั้งที่ดีมาก ถือว่าอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ และในช่วงอดีต เป็นศูนย์การค้าที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่ทั้งนี้การดำเนินธุรกิจ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พร้อมมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ทำให้บริษัทอาจขาดมุมมองในประเด็นนี้ จึงทำให้ลดความนิยมลงไปจากกลุ่มลูกค้าโดยรอบ
แนวทางแก้ไขของศูนย์การค้า กาดสวนแก้ว ยังสามารถฟื้นฟูขึ้นมาได้ และสร้างการเติบโตภายใต้การผสมผสานทีมผู้บริการใหม่ๆ และการผสมผสานทีมงานที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจค้าปลีก
พรอมเมนาดา :
กรณีศึกษา พรอมเมนาดา เชียงใหม่ ศูนย์การค้าแห่งนี้ มีพื้นที่ประมาณ 58ไร่ โดยเปิดดำเนินการมา เพียง 9 ปี ซึ่งถือว่ามีระยะเวลาสั้นมาก และตั้งอยู่วงแหวนรอบที่สองของตัวเมืองเชียงใหม่ เน้นจับกลุ่มลูกค้าระดับบน ย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่น และรองรับสนามบินแห่งที่สองของจังหวัดเชียงใหม่
ขณะที่สถาปัตยกรรมของศูนย์การค้า สวยงามมาก ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และคนรุ่นยุค 70-90 และให้ความร่มรื่น โดยในยุคแรกของการบริหารงาน ประสบความสำเร็จมาก ในระยะหนึ่ง ต่อมา มีการเปลี่ยนแปลง ทีมผู้บริหารระดับสูง ทำให้นโยบายบริหารจัดการไม่ต่อเนื่อง รวมถึงกำหนดทิศทางของศูนย์การค้าตามไม่ทันคู่แข่งขัน ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจมากกว่า ในทุกด้าน ตั้งแต่ การตั้งราคาค่าเช่า ที่ต่ำกว่า ต้นทุนต่อตารางเมตร และทีมงานยังไม่เชี่ยวชาญในด้านนี้
อย่างไรก็ตาม ศูนย์การค้าพรอมเมนาดา สามารถกลับมาฟื้นฟูได้อีกครั้ง เหตุผลมาจากการมีทำเลที่ตั้งที่ดีมาก จึงสามารถรองรับกลุ่มลูกค้ารอบนอก ที่ไม่ต้องการเข้าเมือง และรองรับการขยายตัวของเมือง ตามกฎหมายผังของจังหวัด
ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี :
ห้างตั้งฮั่วเส็งธนบุรี สาขาธนบุรี หรือสาขาสอง ในช่วงปี 2534 พื้นที่รวมประมาณ 30,000 ตร.ม. โดยทำเลแห่งนี้ยังคงรูปแบบศูนย์การค้าแบบเดิมๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ หรือรีโนเวท (Renovate) และบรรยากาศ Ambience ให้ทันสมัยตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ และรุ่นเก่า
อีกปัจจัยหนึ่งคือ พื้นที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (catchment area) ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนหนาแน่นโดยรอบ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีมาก แต่ไม่สามารถดึงลูกค้าออกมาได้ ด้วยเหตุว่าพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป ทางศูนย์การค้าไม่มีกิจกรรมทางการตลาด และ CRM (customer Relationship Management) CSR (Customer social Respond) ที่ดึงลูกค้าในแต่ละกลุ่มออกมาใช้บริการได้
โดยทางศูนย์การค้า เน้นกลุ่มลูกค้าสูงวัย กลุ่มเย็บปักถักร้อยเฉพาะกลุ่มเดียว ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้มีจำนวนลูกค้าน้อยมาก ทำให้กลุ่มลูกค้าอื่นไม่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม ส่งผลให้ทราฟฟิกน้อยเกินไป ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่าธุรกิจนี้ต้องจับปลาทุกตัวหรือจับลูกค้าทุกกลุ่มอาชีพ หมายความว่า ต้องจัดกิจกรรม ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมความต้องการของลูกค้าในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งแตกต่างกันไม่เหมือนกันในแต่ละพื้นที่
อีกปัจจัยหนึ่งคือ ขาดร้านค้าหลักที่มีศักยภาพ ( key account / anchor) มีน้อยเกินไป ทำให้ขาดความหลากหลาย และความน่าสนใจ อีกปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ ทีมงานต้องเข้าใจ และปรับตัวให้ทันสมัยตลอดเวลา
แนวทางแก้ไขศูนย์การค้าฯ ทั้งสองสาขา ตั้งอยู่ในทำเลที่ดี มีชุมชนหนาแน่น ยังสามารถกลับมายืนหนึ่งได้ โดยหากลุ่มศูนย์การค้าฯ ที่มีศักยภาพ มีความเชี่ยวชาญมาร่วมทุน ( Joint Venture) ได้
"การบริหารค้าปลีกสิ่งสำคัญที่เป็นองค์ประกอบมีทั้ง เงินทุน ผู้บริหาร และทีมงาน ที่มีประสบการณ์ เชี่ยวชาญ ระบบบริหาร การมีเครือข่ายกับร้านค้าขนาดใหญ่ กลาง เล็ก กลยุทธ์จับลูกค้าในทุกกลุ่ม บรรยายกาศของศูนย์การค้า การทำกิจกรรมทางการตลาด กิจกรรมซีเอสอาร์ ซีอาร์เอ็ม การจัดตั้งอัตราค่าเช่าที่เหมาะสม บริหารต้นทุนที่ต่ำ"
ทั้งนี้จากกรณีหลายรีเทลที่ต้องปิดให้บริการ สรุปได้ว่า มีหลายจุดอ่อนของธุรกิจทั้ง
* การไม่ปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับตลาด และเทรนด์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
* การไม่เตรียมแผนรับมือวิกฤติภายใน และภายนอกที่อาจเกิดขึ้น
* การไม่ศึกษาความต้องการของลูกค้าในแต่ละชุมชนที่อยู่โดยรอบ
* การบริหารธุรกิจศูนย์การค้าต้องใช้เงินทุนสูง จำเป็นต้องดูแลเรื่องสภาพคล่อง เพื่อทำให้เกิดปัญหาขาดทุนสะสมยาวนาน
* การเปลี่ยนแปลงทีมผู้บริหารบ่อยครั้ง และทีมงานบางส่วนอาจจะไม่เข้าใจธุรกิจค้าปลีก
* ทีมผู้ก่อตั้งใช้แนวทางการบริหารแบบธุรกิจครอบครัว อาจทำให้การปรับเปลี่ยนทุกอย่างต้องใช้เวลา
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 13 กันยายน 2567