ผู้ว่าธปท. แนะ ดันศก.โตคู่ความมั่งคั่งครัวเรือน ย้ำไทยอยู่แบบเดิมไม่ได้แล้ว เพราะเริ่มไร้เสน่ห์
เมื่อวันที่ 13 กันยายน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา "Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก..Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน" ในหัวข้อ "สร้างไทยเข้มแข็งด้วยท้องถิ่นนิยม Localism Future of Thailand" ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ราชประสงค์
นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า การเติบโตของประเทศไทย ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะเติบโตแบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว แต่ต้องหาการเติบโตแบบใหม่ โดยเฉพาะในแง่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่เราไม่ควรโตแบบล่าตัวเลขจีดีพี หรือตัวเลขการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (เอฟดีไอ) แต่ต้องพิจารณาในส่วนของจีดีพี หรือเอฟดีไอ จะสามารถสร้างประโยชน์ความเป็นอยู่ของคนในประเทศได้มากน้อยเท่าใด เพราะตัวเลขที่ต้องล่า คือความมั่งคั่งรายได้ของครัวเรือน ที่สะท้อนความเป็นอยู่ของประชาชน อาทิ สาธารณสุข การศึกษา เพราะตัวเลขที่ผ่านมาไม่ได้สะท้อนความเป็นอยู่ของคน เราจึงต้องพึ่งพาความเข้มแข็งจากภายในประเทศมากขึ้น
ไทยเริ่มไร้เสน่ห์รออย่างเดียวไม่ได้แล้ว :
นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า มี 3 ประเด็นที่สะท้อนว่าไทยจะเติบโตแบบเดิมไม่ได้แล้ว คือ 1.อัตราการเติบโตของจีดีพีไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่สะท้อนความมั่งคั่งครัวเรือนมากขึ้น ดูรายได้ครัวเรือนค่อนข้างห่างพอสมควร และมองไปข้างหน้า จีดีพีมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่เน้นเติบโตจีดีพี แต่รายได้ครัวเรือนไม่ได้เพิ่มขึ้น 2.มุมธุรกิจจะเห็นการกระจุกตัวสูง จากข้อมูลสัดส่วนรายได้ธุรกิจอยู่ในธุรกิจรายใหญ่ที่มี 5% แต่มีรายได้ถึง 80-90% จากเดิมอยู่ที่ 84-85% ซึ่งเห็นการกระจุกตัวมากขึ้น และหากดูธุรกิจตัวเล็ก หรือธุรกิจเกิดใหม่ที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี มีอัตราการตายมากขึ้น สะท้อนไดนามิกของการขับเคลื่อนที่กระจุกตัว และ 3.โลกมีการเปลี่ยนแปลงความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไทยจะพึ่งพาเอฟดีไอแบบเดิมไม่ได้
โดยในปี 2544-2548 ไทยมีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) อยู่ที่ 0.57% สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันสัดส่วนเอฟดีไอของไทยค่อนข้างทรงตัว (Flash) ในทางกลับกันเวียดนามและอินโดนีเซียพุ่งสูงขึ้น สะท้อนว่าไทยจะนั่งเพื่อรอเอฟดีเอเข้ามาเองไม่ได้แล้ว เพราะไทยไม่ได้มีเสน่ห์เหมือนเดิม
แนะกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น :
นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า การเติบโตรูปแบบใหม่จะเป็นการเติบโตแบบยั่งยืนและมีฐานที่กว้าง เป็นการเติบโตแบบ More Local หรือเน้นการขับเคลื่อนท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันประชากร 80% อยู่นอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล ต้องสร้างความมั่งคั่งนอกพื้นที่ และธุรกิจประมาณ 80% อยู่นอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล ซึ่งหากดูสัดส่วนประชากรเมืองหลวงและเมืองรองมีช่องว่าง (Gap) มหาศาล และ 3.จากตัวเลขธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) สะท้อนการเติบโตจีดีพีสูง แต่การเติบโตของประชากร มีเพียง 0.22% เท่านั้น โดยการเติบโตแบบท้องถิ่นจะต้องโตแบบแข่งขันได้ และเป็นการแข่งขันกับโลกได้ ไม่เพียงแค่แข่งขันระหว่างจังหวัดและจังหวัดเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่าย และมีความท้าทายหลายด้าน อาทิ ส่วนของความหนาแน่นและการกระจายตัวของคนท้องถิ่น ซึ่งมีผลต่ออุปสงค์ที่ไม่โต ธุรกิจท้องถิ่นมีขนาดเล็ก ภูมิรัฐศาสตร์หลากหลายทำให้เศรษฐกิจและการเติบโตไม่กว้างและไม่ยั่งยืน
“เราต้องเน้นกระจายความเจริญลงไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น สร้างท้องถิ่นสากลให้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน จุดเด่นแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ทั้งทรัพยากรและประวัติศาสตร์ แต่จะต้องแข่งขันกับโลกได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่มีมูลค่าสูงขึ้นเชื่อมกับตลาด เพราะกระแสออนไลน์จะทำให้การเชื่อมกับตลาดได้ง่ายขึ้น ซึ่งต้องช่วยดันต้นทุนที่อาจยังทำให้ต่ำไม่ได้ สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการหาจุดเด่นและเอกลักษณ์ ทำให้เมืองรองโต ทำให้เกิดการเข้าถึงเมืองรอง สร้างการกระจุกตัวในเมืองใหม่ๆ ท้องถิ่นบริหารจัดการเองได้ เพราะบางครั้งอะไรที่ใช้ส่วนกลางแล้วดี อาจไม่ได้ดีในท้องถิ่น และสร้างระบบติดตาม ที่สามารถสำรวจในเรื่องต่างๆ ได้ เพื่อพยายามให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 13 กันยายน 2567