กกร.พร้อมชงสมุดปกขาวรัฐบาล ลุ้น "เงินดิจิทัล" โมเมนตัมเศรษฐกิจ Q1/68
รัฐบาล "แพทองธาร ชินวัตร" แถลงนโยบายต่อรัฐสภา มี 9 ความท้าทายของประเทศไทย ที่รัฐบาลพร้อมประสานพลังกับทุกภาคส่วนเปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็นความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ และสังคม และมี 10 นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะดำเนินการทันที
อย่างไรก็ดีในมุมมองของภาคเอกชนที่ต้องประสานการทำงานเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกับรัฐบาล โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เตรียมนำเสนอสมุดปกขาวความคิดเห็นและข้อเสนอเพิ่มเติมต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เรื่องสมุดปกขาวนี้ ทาง กกร. จะเร่งสรุปความคิดเห็นและข้อเสนอร่วมกันอีกครั้ง คาดการจัดทำสมุดปกขาวจะแล้วเสร็จและนำเสนอต่อรัฐบาลได้ช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 ของเดือนกันยายนนี้
เงินดิจิทัลดันเศรษฐกิจโตเพิ่ม 0.3% :
สำหรับสาระสำคัญของสมุดปกขาว จะมีการนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น-ยาว ทั้งประเด็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การลดภาระค่าครองชีพประชาชนและต้นทุนของผู้ประกอบการ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยข้อเสนอของ กกร. ในครั้งนี้ ยังรวมถึงประเด็นที่แต่ละสถาบันของภาคเอกชนได้นำเสนอนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ด้วย
อย่างไรก็ตามในการประชุม กกร.ครั้งล่าสุด (4 ก.ย. 67) ทาง กกร. คาดเศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะเติบโตเฉลี่ยที่ 2.2 - 2.7% ขณะที่หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2567 น่าจะเติบโตได้ใกล้เคียงกันที่ระดับ 2.4-2.6% กรณีไม่นับรวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
ส่วนกรณีนับรวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล
โดยในกลุ่มเปราะบางจะแจกเป็นเงินสดได้ภายในเดือนกันยายน 2567 คาดใช้เม็ดเงินประมาณ 1.45 แสนล้านบาท หอการค้าฯ มองว่าส่วนใหญ่ประชาชนกลุ่มเปราะบางน่าจะใช้เงินทันที และจะมีพฤติกรรมการใช้ภายในจังหวัดที่อาศัยหรือจังหวัดใกล้เคียงเป็นหลัก ซึ่งสินค้าที่ผลิตในประเทศน่าจะได้รับอานิสงส์มากขึ้น จึงประเมินเบื้องต้นว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะช่วยเพิ่ม GDP ได้อีก 0.2 0.3%
“ส่วนประชาชนกลุ่มที่เหลือและอยู่ในระบบลงทะเบียนอีกประมาณ 30 ล้านคน ใช้เม็ดเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท ต้องติดตามว่ารัฐบาลจะใช้รูปแบบใดในการแจก และมีปัจจัยสำคัญอยู่ที่รอบในการหมุนเงิน ดังนั้น ในกรณีที่มีการแจกเงินหรือเงินดิจิทัล หอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินเบื้องต้นว่า น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้รวม 2.6-2.8% และยังจะมีโมเมนตัมไปจนถึงไตรมาส 1 ปี 2568”
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทย ณ เวลานี้ยังมีความผันผวน โดยมีปัจจัยบวก และปัจจัยลบอยู่มากที่รัฐบาลและภาคเอกชนไทยต้องรับมือ
ปัจจัยลบ ได้แก่
1)การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาโดยเร็ว
2)ภาระหนี้สินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ยังมีส่วนกดดันการบริโภคของครัวเรือนไทยที่ลดลง รวมไปถึงการเร่งตัวขึ้นของหนี้ที่จะเปลี่ยนไปเป็น NPL ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมากจนน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะสินเชื่อในกลุ่มรถยนต์ บัตรเครดิต และอสังหาริมทรัพย์ระดับกลาง-ล่าง
3)ปัญหานํ้าท่วมที่เกิดขึ้นถือเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม โดยคาดว่ามูลค่าความเสียหาย สำหรับช่วงเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนจะอยู่ที่ราว 8,000 -10,000 ล้านบาท หรือ 0.04% ของจีดีพี ซึ่งภาคเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด
4)ปัจจัยลบต่างประเทศ ทิศทางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มอ่อนแรง เป็นผลจากจีดีพีในเศรษฐกิจสำคัญๆ มีอัตราขยายตัวที่ตํ่า ส่วนนี้อาจกระทบโดยตรงกับภาคการส่งออกของไทยที่ยังพึ่งพาตลาดเดิมอยู่ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการส่งออกของไทยในช่วงที่ผ่านมา เป็นตัวสะท้อนความต้องการในสินค้าของไทยที่ยังเป็นสินค้าหรืออุตสาหกรรมเดิม ในขณะที่ความต้องการของโลกมุ่งไปสู่สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ลุ้นสหรัฐลดดอกเบี้ยปัจจัยบวก :
ส่วนด้านปัจจัยบวกในประเทศ ที่สำคัญได้แก่
1)ความเชื่อมั่นในการได้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ที่รวดเร็ว ขณะที่นักลงทุนต่างชาติจับตาทิศทางนโยบายเดิมว่าจะมีการสานต่อหรือไม่ โดยหลายโครงการมีสัญญาณชัดเจนว่ารัฐบาลจะมีการเดินหน้าต่อ ทำให้นักลงทุนเกิดความชัดเจนมากขึ้น
2)การฟื้นตัวอย่างโดดเด่นของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ตลอดทั้งปีอาจ พุ่งสูงแตะสถิติเดิมที่เคยทำไว้เมื่อปี 2562 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากมาตรการที่รัฐบาลยกเว้นวีซ่า 60 วันให้กับ 93 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบันมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทย ตั้งแต่ 1 ม.ค.-1 ก.ย. 2567 ทะลุ 23.6 ล้านคน สร้างรายได้ 1.1 ล้านล้านบาท คาดว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยสูงถึง 37-39 ล้านคน จากเดิมเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 36 ล้านคน
3)การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ รวมทั้งภาคการส่งออก ที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการปรับลดดอกเบี้ยจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ตามที่ กกร. ได้มีการปรับการคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยปีนี้จะเติบโตได้ 1.5-2.5% จากเดิม 0.8 1.5%
และ 4.ปัจจัยบวกภายนอกประเทศ มองว่า หากเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จนถึงปี 2568 หากไม่มีเหตุการณ์พลิกผันเกิดขึ้น สหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยนโยบาย สงครามเบาลง น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจกลับหัวขึ้นได้ ขณะที่เศรษฐกิจจีนที่ไม่ได้มีแรงกระแทกจากอสังหาริมทรัพย์มากนัก สัญญาณเชิงลบไม่ได้รุนแรง คาดว่าทั้งปี 2567 จีดีพีจีนจะโตได้ 5% ทำให้การส่งออกของไทยไปยังตลาดจีนเติบโตตามไปด้วย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 15 - 18 กันยายน 2567