น้ำท่วม ฉุดเศรษฐกิจรุนแรง แนะรัฐเร่งโอนเงินเยียวยา-ดันมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำฟื้นฟูกิจการ
น้ำท่วมฉุดศก.ไทยรุนแรง แนะรัฐเร่งโอนเงินเยียวยา ดันมาตรการสินเชื่อดบ.ต่ำฟื้นฟูกิจการ เร่งใช้กลไกกองทุนเสมอภาคป้องเด็กออกจากระบบการศึกษา
เมื่อวันที่ 15 กันยายน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจจีนไม่ว่าจะเป็นดัชนีค้าปลีก ผลผลิตอุตสาหกรรมและตัวเลขการลงทุนเดือนสิงหาคมล่าสุด ต่ำกว่าคาดการณ์เกือบทุกดัชนี สะท้อนถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอ่อนแอของระบบเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกอย่างจีน นอกจากนี้อัตราการว่างงานในเมืองยังสูงถึง 5.3% และตัวเลขการว่างงานของคนหนุ่มสาวในเดือนกรกฎาคมสูงถึง 17.1% ทางการจีนมีความจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
สัญญาณเสี่ยงศก.โลกเริ่มถดถอยคาดทั้งปีอยู่ที่ 2.8-3.2% :
สัญญาณของเศรษฐกิจโลกแสดงถึงความเสี่ยงภาวะถดถอยเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาชะลอตัวลง เศรษฐกิจยุโรปยังคงได้รับผลกระทบจากสงครามยูเครนรัสเซีย ตะวันออกกลางยังคงได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน หลายพื้นที่ของโลกรวมทั้งไทยและอาเซียนได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นจากปัญหาสิ่งแวดล้อม
หากธนาคารกลางประเทศหลักๆประสานกันลดดอกเบี้ยเชิงรุกจะช่วยลดความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกครึ่งหลังชะลอตัวลงแรงได้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องอาศัยการผ่อนคลายทั้งมาตรการเงินและมาตรการทางการคลัง หลายประเทศเริ่มมีข้อจำกัดในการใช้มาตรการการคลังจากปัญหาฐานะทางการคลังและระดับหนี้สาธารณะสูง ช่วงครึ่งปีแรก อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดีแม้นครึ่งปีหลังเติบโตชะลอตัวลงแต่น่าจะยังทำให้อัตราการขยายตัวทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 2.8-3.2% อย่างไรก็ตาม หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศเศรษฐกิจหลักๆอาจทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจต่ำกว่าที่คาดการณ์ได้
คาดก.ย.นี้เฟดลดดบ.แน่อาจลดต่อเนื่องถึงกลางปีหน้า :
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า คาดธนาคารกลางสหรัฐฯลดดอกเบี้ยในวันที่ 18 ก.ย. และส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยอีกสองครั้งในปีนี้ ดอกเบี้ยปลายปีอาจลงไปอยู่ที่ระดับ 4.0-4.50% ได้ และ คาดการณ์ว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯขาลงครั้งนี้อาจปรับตัวลดลงได้มากถึง 2-2.25% และ อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องไปจนถึงกลางปีหน้าหากอัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามเป้าหมาย 2% ปัจจัยดอกเบี้ยขาลงของสหรัฐฯและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 18 กันยายน ศกนี้ จะส่งผลทำให้ “เงินบาท” แข็งค่าต่อเนื่องและเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นทั่วโลก
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปอาจปรับลดลงได้อีก 1.50-1.75% ในอัตราดอกเบี้ยขาลงรอบนี้โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางยุโรปมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 0.25% มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% ปลายปีนี้ หลังจากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย เศรษฐกิจได้รับผลกระทบรุนแรงจากภัยพิบัติอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศ
ชี้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวดีกว่าฟิกเรท :
ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า ประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวและมีการเปิดเสรีทางการเงิน มีเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างเสรี มีข้อจำกัดน้อย หากทางการต้องการรักษาความสมดุลภายใน (เงินเฟ้อและการว่างงานต่ำ) และความสมดุลภายนอก (ดุลการชำระเงินสมดุล) นโยบายการเงินและนโยบายการคลังต่างมีประสิทธิผลในการเพิ่มรายได้ประชาชาติหรือจีดีพีและการจ้างงาน ยิ่งมีการเปิดเสรีมาก ประสิทธิผลของนโยบายการเงินยิ่งมาก ขณะที่ผลของมาตรการทางการคลังลดลง นโยบายการเงินนั้นจะมีประสิทธิผลสูงในระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว แต่ไม่ค่อยมีประสิทธิผลดีนักในระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่
ส่วนมาตรการคลังสามารถมีเป้าหมายเพื่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ทั้งสองระบบ แต่จะมีประสิทธิผลในการแก้ปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าในระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ส่วนการแก้ปัญหาความสมดุลภายนอกนั้น ควรปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนปรับค่าตามกลไกตลาดจนดุลการชำระเงินสมดุล กรณีประเทศที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแบบมีการจัดการอย่างไทย ภาครัฐควรใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคต่างๆเพื่อเป้าหมายความสมดุลภายใน และ ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนในการเอื้ออำนวยให้ดุลการชำระเงินปรับตัวเข้าสู่ความสมดุลภายนอก
แนะรัฐเร่งจ่ายเยียวยน้ำท่วม-โปะงบการศึกษาป้องเด็กออกนอกระบบ :
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลคงต้องโอนเงินช่วยเหลือประชาชนประสบภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศแล้ว ในส่วนของมาตรการการเงินควรมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำฟื้นฟูกิจการ การปรับโครงสร้างหนี้หรือการลดหนี้ให้กับประชาชนหรือกิจการในพื้นที่ประสบอุทกภัย โรงเรียนและสถานศึกษาที่ได้รับความเสียหายจากผลกระทบอุทกภัยต้องได้รับการฟื้นฟูให้สามารถกลับมาทำหน้าที่ได้ตามปรกติโดยเร็ว
และควรมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อนำไปฟื้นฟูให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้โดยเร็ว เสนอให้เพิ่มงบประมาณให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อให้มีทรัพยากรเพียงพอในการช่วยเหลือเด็กๆไม่ต้องตกออกจากระบบการศึกษา คาดว่า จะมีเด็กๆนักเรียนต้องตกออกจากระบบการศึกษาเพิ่มเติมจำนวนไม่น้อยจากปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากภัยพิบัติน้ำท่วม
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 15 กันยายน 2567