ภัยพิบัติถล่มเอเชีย-ยุโรปกลาง น้ำท่วม-พายุฝนสัญญาณโลกเดือด
ประมวลเหตุภัยพิบัติล่าสุดทั่วเอเชียและยุโรปกลาง ทั้งน้ำท่วมและพายุฝนกระหน่ำหลายประเทศ ไทย เมียนมา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน ลาว และโรมาเนีย สะท้อนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นทุกปี สัญญาณเตือนโลกเดือดในอนาคต
หลายประเทศทั่วเอเชียและยุโรป เช่น ไทย เมียนมา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน ลาว และ โรมาเนีย กำลังเผชิญกับภัยพิบัติธรรมชาติรุนแรงซึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติเหล่านี้ส่งผลกระทบทั้งในด้านชีวิตของประชาชน โครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งแวดล้อม และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นในอนาคต
ไทย: เหนือและอีสานน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 80 ปี :
ประเทศไทยกำลังประสบภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน การคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าภาวะฝนตกหนักที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ระบบมรสุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความรุนแรงมากขึ้น ถือเป็นอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 80 ปี
ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา "พายุไต้ฝุ่นยางิ" ที่ลดระดับจากซูเปอร์ไต้ฝุ่นเป็นพายุดีเปรสชันได้เคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่ตอนบนของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในอำเภอแม่สายและอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ทำให้เกิดเหตุน้ำท่วมหนัก พื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดเชียงรายที่ได้รับผลกระทบ
นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เปิดเผยว่า น้ำที่ไหลเข้าท่วมพื้นที่ตลาดสายลมจอยและชุมชนต่าง ๆ มีขอนไม้ เศษไม้ และสิ่งปฏิกูลไหลมาด้วย คาดว่าฝนตกหนักในป่าต้นน้ำซึ่งอยู่ในประเทศเมียนมา ทำให้น้ำหลากลงมาสู่พื้นที่ชายแดนไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อำเภอแม่สายได้ตัดกระแสไฟฟ้าในบางพื้นที่เพื่อความปลอดภัย ขณะที่การประปาส่วนภูมิภาคสาขาแม่สายแจ้งว่าไม่สามารถเข้าถึงสถานีสูบน้ำได้ จึงยังไม่สามารถจ่ายน้ำประปาได้ตามปกติ
นักวิชาการอาวุโสจาก Stockholm Environment Institute (SEI) เปิดเผยว่าในปีนี้อำเภอแม่สายเผชิญกับอุทกภัยถี่เป็นประวัติการณ์ โดยเกิดน้ำท่วมถึง 7 ครั้งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าปกติที่เคยเกิดเพียง 2-3 ครั้งต่อปี
ปัจจัยที่ทำให้น้ำท่วมบ่อยครั้งในปีนี้มีหลายปัจจัย เช่น ปริมาณฝนที่ตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม มีปริมาณมากกว่าปกติถึง 50-60% ทำให้ดินไม่สามารถอุ้มน้ำได้อีกต่อไป
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ต้นน้ำ แม่น้ำสายซึ่งมีต้นน้ำอยู่ในประเทศเมียนมา 80% ได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการวิจัยพบว่าพื้นที่ป่าต้นน้ำได้ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและเหมืองแร่ ทำให้ความสามารถในการชะลอน้ำลดลง ส่งผลให้น้ำหลากมีความแรงและเชี่ยวมากขึ้น อีกทั้งระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้การระบายน้ำจากแม่น้ำสายเป็นไปได้ยากขึ้น
การขยายตัวของเมืองในฝั่งแม่สายของไทยและท่าขี้เหล็กของเมียนมาในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่รับน้ำและระบายน้ำเดิมถูกเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัย
แม่น้ำสายซึ่งเคยมีความกว้าง 130-150 เมตร ปัจจุบันมีความกว้างเพียง 20-50 เมตรในบางพื้นที่ ส่งผลให้การระบายน้ำเป็นไปได้ยากขึ้น และคาดว่าฤดูฝนในไทยจะยังคงต่อเนื่องไปจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ทำให้อำเภอแม่สายยังมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับอุทกภัยอีกในอนาคต
เมียนมา: พายุไต้ฝุ่นยางิก่อวิกฤตน้ำท่วมและดินถล่ม
เมียนมาเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นยางิที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มอย่างรุนแรงในช่วงเดือนกันยายน 2567 คร่าชีวิตผู้คนอย่างน้อย 113 คน และสูญหายอีก 64 คน โดยยังมีรายงานที่คาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจริงอาจสูงกว่านี้จากสำนักข่าวในท้องถิ่นและหน่วยงานอิสระ
ฝนที่ตกหนักและลมแรงจากพายุยางิส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 320,000 คนต้องอพยพไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ รัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง ภาคมัณฑะเลย์ รัฐมอญ และรัฐฉาน บ้านเรือนกว่า 66,000 หลัง โรงเรียนและวัดวาอาราม 375 แห่ง รวมถึงถนนและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ถูกทำลายจากอิทธิพลของพายุ
พายุยางิ ซึ่งเคยเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุดในเอเชียในปีนี้ ก่อนหน้านี้ได้พัดถล่มฟิลิปปินส์ เกาะไหหลำของจีน เวียดนาม ลาว และทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมกันถึง 287 คน แม้พายุจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันหลังขึ้นฝั่งในเวียดนาม แต่ก็ยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อหลายประเทศในภูมิภาค รวมถึงเมียนมา
เวียดนาม: ฝนตกหนักและน้ำทะเลหนุน
เวียดนามเป็นอีกหนึ่งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังเผชิญกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ โดยสถานการณ์ล่าสุดในเขตดานังและเว้ ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล หน่วยงานท้องถิ่นรายงานว่า น้ำท่วมในปีนี้มีความรุนแรงมากกว่าปกติถึง 30% ทำให้พื้นที่การเกษตรกว่า 50,000 ไร่ถูกทำลาย
ในกรุงฮานอย แม่น้ำแดงซึ่งไหลผ่านเมืองหลวงได้ขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี แม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย เนื่องจากน้ำส่วนใหญ่ได้ไหลออกสู่ทะเลแล้ว แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นยังคงรุนแรง โดยประชาชนและเจ้าหน้าที่กำลังเร่งทำความสะอาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุยางิและน้ำท่วมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ล่าสุด ทางการเวียดนามเผยว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 262 ราย และยังมีผู้สูญหายอีกหลายราย ขณะที่การค้นหาและช่วยเหลือยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
ฟิลิปปินส์: พายุไต้ฝุ่นเบบินคาซัด เสียชีวิต 6 ราย
ก่อนหน้านี้ฟิลิปปินสูถูกพายุโซนร้อนยางิพัดถล่ม ได้รับความเสียหายและมีผู้เสียชีวิตหลายรายเช่นกัน ต่อมาทางการฟิลิปปินส์ได้ออกประกาศเตือนประชาชนรับมือกับพายุดีเปรสชั่นอีกลูกที่ก่อตัวขึ้นนอกชายฝั่งของประเทศ ซึ่งมีเส้นทางคล้ายคลึงกับพายุยางิ
จากรายงานล่าสุด "พายุไต้ฝุ่นเบบินคา" ที่มีความเร็วลมกว่า 198 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สร้างความเสียหายอย่างหนักในหลายพื้นที่ของฟิลิปปินส์อีกครั้ง โดยเฉพาะที่เมืองมาลาบังและซัมโบอังกา มีรายงานผู้เสียชีวิตหลายราย และประชาชนกว่า 13,000 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่ ก่อนที่พายุจะเคลื่อนผ่านในช่วงเช้าของวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่น
เจ้าหน้าที่รายงานว่า พายุโซนร้อนเบบินคาที่พัดเข้าถล่มพื้นที่กลางและตอนใต้ของฟิลิปปินส์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำให้ต้นไม้ล้มทับประชาชนจนเสียชีวิต 6 ราย
คณะกรรมการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติเปิดเผยว่า พายุครั้งนี้ทำให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 11 คน และยังมีผู้สูญหายอีก 2 คน นอกจากนี้ สนามบินหลักทั้งสองแห่งของเซี่ยงไฮ้ได้ประกาศยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมด เนื่องจากพายุกำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้ประเทศจีน
จีน: พายุไต้ฝุ่นจ่อถล่มเซี่ยงไฮ้ช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์
กระทรวงบริหารฉุกเฉินของจีนได้ประกาศยกระดับการแจ้งเตือน "พายุไต้ฝุ่นเบบินคา" เป็นระดับสูงสุดเมื่อวันที่ 15 กันยายน โดยคาดว่าพายุจะขึ้นฝั่งที่เขตตะวันออกของจีนซึ่งมีประชาชนอาศัยหนาแน่น ระหว่างคืนวันที่ 15 ถึงเช้าวันที่ 16 กันยายน นครเซี่ยงไฮ้เตรียมรับมือกับพายุไต้ฝุ่นเบบินคา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการคมนาคมอย่างหนัก โดยได้ประกาศห้ามเครื่องบินทุกเที่ยวบินขึ้นจากสนามบินในเซี่ยงไฮ้ และมีการปิดสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง
คาดว่าพายุไต้ฝุ่นเบบินคาจะเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดที่พัดขึ้นฝั่งนครเซี่ยงไฮ้ตั้งแต่ปี 1949 เคลื่อนตัวอยู่ห่างจากนครเซี่ยงไฮ้ประมาณ 500 กิโลเมตร และคาดว่าจะขึ้นฝั่งที่ชายฝั่งทางตะวันออกของจีนในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 15 กันยายน ทำให้เกิดฝนตกหนักตลอดระยะเวลาจากวันที่ 15 ถึง 17 กันยายน
ลาว: น้ำท่วมหนักในนครเวียงจันทน์และหลวงพระบาง
นครเวียงจันทน์และหลวงพระบางประสบกับฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายอย่างหนักและประชาชนหลายคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย
ในนครเวียงจันทน์ คาดว่าฝนจะตกต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 13 ถึง 17 กันยายน โดยระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะสูงถึง 13.01 เมตรในวันที่ 14 กันยายน และเพิ่มขึ้นเป็น 13.16 เมตรในวันที่ 15 กันยายน ซึ่งคาดว่าจะสูงกว่าระดับน้ำสูงสุดที่เคยเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2509 และ 2551 ชาวบ้านต่างใช้กระสอบทรายในการป้องกันน้ำท่วม
โดยในพื้นที่หลวงพระบาง หน่วยงานเฝ้าระวังน้ำได้เพิ่มความระมัดระวังในแม่น้ำคานและแม่น้ำโขง เนื่องจากระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นและฝนตกหนักต่อเนื่อง อาจทำให้ระดับน้ำถึงระดับอันตรายได้
โรมาเนีย: น้ำท่วมใหญ่คร่าชีวิต 4 ราย ขณะฝนกระหน่ำยุโรปกลาง
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2567 เกิดเหตุน้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่ทางตะวันออกของโรมาเนีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 4 ราย โดยเทศมณฑลกาลาทีเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด บ้านเรือนกว่า 5,000 หลังได้รับความเสียหาย ประชาชนกว่า 25,000 คนไม่มีไฟฟ้าใช้ ฝนที่ตกต่อเนื่องหลายวันส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงและไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ใกล้เคียง ทางการได้ตั้งค่ายพักพิงชั่วคราวรองรับผู้ที่ต้องอพยพออกจากบ้านเรือน
นอกจากโรมาเนียแล้ว ประเทศอื่นๆ ในยุโรปกลางและตะวันออก เช่น สาธารณรัฐเชก โปแลนด์ สโลวาเกีย ฮังการี รวมถึงพื้นที่ทางใต้ของเยอรมนีและออสเตรีย กำลังเผชิญกับฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง สาธารณรัฐเชกได้รับผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำที่เพิ่มสูงจนท่วมบางพื้นที่ใกล้ชายแดนโปแลนด์ แต่ด้วยการเตรียมมาตรการป้องกันที่ดี ความเสียหายจึงยังไม่รุนแรง อย่างไรก็ตาม ทางการยังคงเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังฝนที่อาจตกหนักต่อเนื่องอีกหลายวัน
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 16 กันยายน 2567