ท่าเรือ "อัลเฆซิราส" ประเทศสเปน ทางเลือกใหม่ ส่งออกไทยเจาะตลาดอียู-แอฟริกา
KEY POINTS
* ธนาคารโลกและ Standard & Poor จัดอันดับ “ท่าเรืออัลเฆซิราส"อยู่ที่อันดับ 10 ของโลก และอันดับสูงสุดของยุโรป
* ท่าเรือ "ท่าเรืออัลเฆซิราส"เป็นท่าเรือพาณิชย์ที่หนาแน่นที่สุดในสเปน
* ขีดความสามารถในการจัดการสินค้าอยู่ที่ 5.5 ล้าน TEUs อนาคตจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 ล้าน TEUs
* จุดยุทธศาสตร์เชื่อมทวีปยุโรปและแอฟริกา ห่างจากชายฝั่งแอฟริกาเพียง 14 กิโลเมตร
* ทางเลือกใหม่ด้านโลจิตติกส์ทางทะเลของไทย ด้วยข้อเด่นด้านตำแหน่งที่ตั้ง นโยบาย โครงสร้างพื้นที่ที่จะเข้ามารองรับและเชื่อมโยงทางบกเพื่อเจาะเข้าสู่ตลาดยุโรปกลาง
เว็ปไซต์จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน รายงานว่า ธนาคารโลกและ Standard & Poor เผยผลการประเมินประสิทธิภาพที่เปรียบเทียบได้ตามเวลาเรือในพอร์ต (CPPI) ล่าสุด ระบุ"ท่าเรืออัลเฆซิราส (Algeciras) " ยังคงเป็นท่าเรือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในยุโรป โดยในการจัดอันดับล่าสุด ท่าเรือ Algeciras อยู่ที่อันดับ 10 ของโลก และอันดับสูงสุดของยุโรป
รายงาน ดัชนีประสิทธิภาพพอร์ตคอนเทนเนอร์ปี หรือ CPPI ได้รับการเผยแพร่เป็นประจำทุกปีโดย World Bank และ S&P Global Market Intelligence ตั้งแต่ปี 2020 โดยใช้ตัวชี้วัดต่างๆ เช่น ประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน เวลาตอบสนองของเรือ และความเร็วในการขนถ่ายสินค้า และอื่นๆ ซึ่งนับตั้งแต่ก่อตั้ง ท่าเรือ Algeciras ถือเป็นหนึ่งในผู้นำตารางการจัดหมวดหมู่ของยุโรปมาโดยตลอด
"ท่าเรืออัลเฆซิราส" เป็นท่าเรือพาณิชย์ที่หนาแน่นที่สุดในสเปน และเป็นอันดับ 4 ของยุโรป รองจาก Rotterdam Antwerp Hamburg มีข้อได้เปรียบด้านภูมิประเทศที่เป็นอ่าวปิด ลมสงบ และทะเลลึก รองรับเรือขนาดใหญ่ทั้งเชิงพาณิชย์และผู้โดยสารได้ อีกทั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมทวีปยุโรปและแอฟริกา ห่างจากชายฝั่งแอฟริกาเพียง 14 กิโลเมตร
ทำให้เป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญสำหรับยุโรปตอนใต้ แอฟริกา และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อีกทั้งยังอยู่ในช่องแคบยิบรอลตาร์ ซึ่งทำให้ท่าเรืออัลเฆซิราส มีความสำคัญอย่างมากในเครือข่ายการขนส่งทางเรือระดับโลก
ด้านประสิทธิภาพธนาคารโลกได้จัดอันดับท่าเรือแห่งนี้อยู่ในลำดับที่ 10 จากทั่วโลก โดยเป็นลำดับที่ 1 ของยุโรป Algeciras เป็นศูนย์กลางหลักสำหรับพันธมิตรการเดินเรือที่สำคัญ เช่น 2M Alliance, Ocean Alliance และ THE Alliance ท่าเรือยังมีการเชื่อมต่อโดยตรงกับสายการเดินเรือ 23 สาย ให้บริการ 142 เส้นทางปกติ และเชื่อมต่อกับ 200 ท่าเรือใน 70 ประเทศทั่วโลก เป็นจุดตัดในแผนเครือข่ายโลจิสติกส์ TEN-T ที่สำคัญ 2 สายของสหภาพยุโรป คือ เมดิเตอเรเนียน และ แอตแลนติก
ปัจจุบันขีดความสามารถในการจัดการสินค้าอยู่ที่ 5.5 ล้าน TEUs และมีแผนที่จะขยายขีดความสามารถเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 ล้าน TEUs ในอนาคต ท่าเรือแห่งนี้มีเทอร์มินัลหลักสองแห่ง ได้แก่ TTI Algeciras และ APM Terminals Algeciras ซึ่งทั้งสองแห่งนี้รวมกันแล้วมีปลั๊กไฟสำหรับตู้เย็น (Reefer Plug) จำนวน 5,376 จุด สำหรับจ่ายไฟให้กับตู้คอนเทนเนอร์ประเภทควบคุมอุณหภูมิได้ (Reefer Container) ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิ เช่น อาหารแช่แข็ง ผลไม้ เนื้อสัตว์ และยา เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าในขณะรอการขนส่งหรือตอนจัดการขนส่งที่ท่าเรือ
การมีปลั๊กไฟสำหรับตู้เย็นในจำนวนมากนี้ทำให้ท่าเรืออัลเฆซิราส สามารถรองรับการขนส่งสินค้าที่ต้องการการควบคุมอุณหภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้สินค้าคงคุณภาพดีและปลอดภัยตลอดกระบวนการขนส่ง
จุดเด่นอีกประการหนึ่งของท่าเรือ คือ เทคโนโลยีและแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อตอบสนองแนวโน้มกฎระเบียบใหม่ของโลก โดยมีแผนปฏิบัติการที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจอย่างครบถ้วน กลยุทธ์นวัตกรรมของท่าเรือเน้นการใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาดด้วยการดำเนินงานแบบ Synchromodal
แนวคิดในการจัดการโลจิสติกส์ที่มีความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพสูง เน้นการผสานรวมการขนส่งหลายรูปแบบ เช่น ทางรถไฟ, รถบรรทุก, เรือ หรือเครื่องบิน เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ โดยมีการเลือกใช้วิธีการขนส่งที่เหมาะสมที่สุดแบบเรียลไทม์ตามความต้องการของสินค้า ระยะทาง ความเร็วที่ต้องการ และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการใช้พลังงานสีเขียว เพื่อเปลี่ยนแปลงท่าเรือ Algeciras ให้เป็นท่าเรือแห่งอนาคตที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนอกจากนี้ ยังได้รับการรับรองเป็นท่าเรือฮาลาลตั้งแต่ปี 2561
นางสาวพัชรมณฑน์ ตระกูลทิวากร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด ระบุว่า เมื่อเดือนก.ค. 2567 สคต. ณ กรุงมาดริดได้เข้าพบหารือนาย Aike Escobar Alpañez ผู้บริหารท่าเรือสายการตลาด รวมทั้งเยี่ยมชมพื้นที่ให้บริการส่วนต่างๆ เพื่อสำรวจศักยภาพในการขยายการค้าระหว่างประเทศของไทยผ่านท่าเรือแห่งนี้
ในการประชุม สคต. ได้รับฟังข้อมูลและสอบถามถึงการดำเนินงานซึ่งพบว่าท่าเรือ Algeciras มีประสิทธิภาพการบริหารจัดการดี มีแผนในอนาคตที่น่าสนใจ ปัจจุบันยังมีสินค้าไทยเข้าทางนี้ไม่มากนัก จึงเหมาะจะเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการไทยด้วยข้อเด่นด้านตำแหน่งที่ตั้ง นโยบายในอนาคต โครงสร้างพื้นที่ที่จะเข้ามารองรับและเชื่อมโยงทางบกเพื่อเจาะเข้าสู่ตลาดยุโรปกลาง ไม่ว่าจะทางรถหรือราง (โครงการ TEN T)
นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤตการขนส่งทางทะเล (Red Sea crisis) ท่าเรือยังมีบทบาทสำคัญรองรับสายเรือและเป็นจุดพักหรือถ่ายลำต่อไปยังยุโรปอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสานสัมพันธ์กับท่าเรือแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางบริหารความเสี่ยงแก่ผู้ส่งออกไทย
“ ในปี 2568 สคต. วางแผนจะเชิญเครือข่ายด้านโลจิสติกส์จากท่าเรืออัลเฆซิราสเข้าร่วมเยี่ยมชมหรือจัดเวทีสัมมนาให้ข้อมูลในงาน TILOG Logistics ณ กรุงเทพมหานคร เพื่อขยายความร่วมมือและขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันต่อไป”
อนึ่ง ในปี พ.ศ. 2566 สินค้าสำคัญที่นำเข้าจากประเทศไทย ได้แก่ กรดคาร์บอกซิลิก ยางรถยนต์ใหม่ ข้าว เส้นใยแก้ว ฯลฯ ขณะที่สินค้าส่งออกจากท่าเรืออัลเฆซิราส ไปยังประเทศไทยได้แก่ กระดาษหรือกระดาษแข็งสำหรับการรีไซเคิล เศษอะลูมิเนียม และผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นต้น สินค้าที่ท่าเรืออัลเฆซิราส มีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ เสื้อผ้าและผ้าผืน เคมีภัณฑ์ อาหาร เป็นต้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 15 กันยายน 2567