เชื่อมั่นอุตฯดิ่ง น้ำท่วมซ้ำเติม ค้านค่าแรง 400 จี้รัฐทำตามมติอนุกรรมการรายจังหวัด
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2567 ว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 87.7 ปรับตัวลดลง จาก 89.3 ในเดือนกรกฎาคม 2567 ปัจจัยด้านลบจากอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง
โดยเฉพาะสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ สะท้อนจากยอดขายรถยนต์ในประเทศ 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม 2567) อยู่ที่ 354,421 คัน หดตัว 23.71% โดยเฉพาะรถกระบะและรถบรรทุก เนื่องจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ขณะที่กำลังซื้อยังเปราะบางจากความกังวลเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.8% ต่อจีดีพีในไตรมาสที่ 2/2567 กดดันการบริโภคในประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ทั้งค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ ต้นทุนทางการเงิน รวมถึงปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ทำให้สินค้าไทยแข่งขันไม่ได้ เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงกว่า ส่งผลให้ยอดขายสินค้าลดลง
นอกจากนี้ยังเจอปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางสร้างความเสียหายแก่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ส่งผลให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวลง นอกจากนี้ด้านการส่งออกยังเจอปัญหาอัตราค่าระวางเรือสูง โดยเฉพาะเส้นทางสหรัฐฯ และยุโรป จากการเร่งส่งออกของจีนและสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางรุนแรง รวมทั้งผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่ารวดเร็วจากระดับ 36.46 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเดือนกรกฎาคม 2567 เป็น 34.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเดือนสิงหาคม 2567 ส่งผลให้สินค้าไทยแพงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งและส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง
อย่างไรก็ตามเดือนสิงหาคม ยังมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย นักลงทุนและผู้ประกอบการเชื่อมั่นมากขึ้น คาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเดือนสิงหาคม เบิกจ่ายแล้ว 81.6% ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวได้แรงสนับสนุนจากมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวของภาครัฐ สะท้อนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 เดือน (มกราคม – สิงหาคม 2567) แตะ 23,567,850 คน ขยายตัว 31% สร้างรายได้เข้าประเทศมูลค่า 1,107,985 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะถึงเป้าหมาย 35-36 ล้านคน
ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ระดับ 93.9 ปรับตัวลดลงจาก 95.2 ในเดือนกรกฎาคม ผู้ประกอบการยังกังวลเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และกังวลปัญหาหนี้เสีย(เอ็นพีแอล) แนวโน้มสูงขึ้น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท และในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 คาดว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคัก
นายเกรียงไกร กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ประกอบด้วย
1. เร่งประกาศและสร้างความชัดเจนในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 อาทิ มาตรการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน หลังจากใกล้แจกเงิน 10,000 บาทแก่กลุ่มเปราะบางสิ้นเดือนนี้ ซึ่งส.อ.ท.คาดว่าจะกระตุ้นจีดีพีได้ 0.35%
2. ปรับลดวงเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเพื่อเสริมสภาพคล่องในภาคอุตสาหกรรม และชะลอการเรียกเก็บเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม กรณีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในรอบปีสูงขึ้น รวมทั้งทบทวนลดเพดานวงเงินการประกันการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันวงเงินประกันการใช้ไฟฟ้าที่ 2 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ดูแลอยู่รวมมากกว่า 4 หมื่นล้านบาท
3. ปรับปรุง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG) และมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดระยะเวลาการพิจารณาไต่สวน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสินค้าทุ่มตลาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะปัจจุบันหากเปรียบเทียบมาตรการ 100% ไทยใช้แค่ 25% ขณะที่ประเทศอื่นต่างงัดมาตรการออกมาสู้ ดังนั้นไทยต้องเร่งดำเนินการ และอยู่ภายใต้กรอบ เพื่อดูแลผู้ประกอบการไทย
4. ออกมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย อาทิ ยกเว้นภาษีนิติบุคคล ขยายเวลาการยื่นภาษี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร รวมทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว โดยวันที่ 21 กันยายนนี้ ส.อ.ท.จะลงพื้นที่ช่วยผู้ประกอบการ จัดทีมแนะนำแนวทางฟื้นฟูเร่งด่วน
5. ขอให้ภาครัฐยึดมติคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด ในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยที่ส่งผลกระทบในปัจจุบัน โดยนโยบายขึ้นค่าจ้าง 400 บาทต่อวัน ที่ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าฝ่ายนายจ้างไม่ร่วมประชุมนั้น ต้องทำความเข้าใจว่าฝ่ายนายจ้างทุกคนต้องทำงาน การนัดประชุมต้องแจ้งล่วงหน้า เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัว โดยส.อ.ท.ยืนยันการขึ้นจ้างรัฐบาลต้องยึดมติคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด ต้องดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ เพราะประเด็นอัตราค่าจ้าง หลายอุตสาหกรรมนายจ้างจ่ายมากกว่า 400 บาทต่อวันแล้ว แต่ที่กังวลคือผลกระทบต่อเนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้าง ภายในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ ซึ่งการขึ้นค่าจ้างต้องควบคู่คุณภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้นด้วย
จุดยืน ส.อ.ท.ต่อนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ มี 3 ข้อสำคัญคือ 1.การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน 2.ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ด้วยการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน (Pay by Skills) เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงานแทนการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และ 3.ผลักดันให้รัฐบาลแก้ปัญหาค่าครองชีพ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ภาคแรงงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานให้มีความเหมาะสม และได้เสนอโมเดลการยกระดับฝีมือแรงงานรองรับการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 129 สาขา ด้วย Competency Based Pay รองรับนโยบายการปรับค่าแรงต่อรัฐบาลแล้ว
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 18 กันยายน 2567