หอการค้าไทยลุยจัด AJBM เวทีรวมนักธุรกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น
สภาหอการค้าไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับ Keizai Doyukai จัดงาน "The 50 ASEAN-Japan Business Meeting" เวทีรวมผู้นำนักธุรกิจหนุน ความมั่นคงทางอาหาร-การเคลื่อนย้าย-การท่องเที่ยว ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ญี่ปุ่น อาเซียน
วันที่ 18 กันยายน 2567 นายกลินท์ สารสิน ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ Keizai Doyukai (สมาคมผู้นำนักธุรกิจญี่ปุ่น) กำหนดจัดงาน “The 50th ASEAN-Japan Business Meeting” (AJBM) ระหว่างวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรม The Okura Prestige กรุงเทพมหานคร
ซึ่งการประชุม ASEAN-Japan Business Meeting (AJBM) เป็นเวทีสำคัญที่ผู้นำธุรกิจจากประเทศ ในกลุ่มอาเซียนและญี่ปุ่นมาร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงพัฒนาความร่วมมือด้านต่างๆ ที่สำคัญ การประชุมนี้เริ่มต้นเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ในปี 2517 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
โดยมีสมาคม Keizai Doyukai เป็นผู้ริเริ่ม และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความมั่นคงและการพัฒนาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกผ่านการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างภาคเอกชน ซึ่ง AJBM ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพระหว่างประเทศสมาชิก
ตัวอย่างความสำเร็จของ AJBM ที่มีส่วนร่วมส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น ในช่วง 49 ปีที่ผ่านมา อาทิ
การส่งเสริมการค้าและการลงทุน : ความร่วมมือทางเศรษฐกิจผ่านข้อตกลง AJCEP (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership) ช่วยลดภาษีและส่งเสริมการเติบโตในภูมิภาค
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน :
สนับสนุนการลงทุนด้านคมนาคม พลังงานและการเชื่อมต่อดิจิทัล
การสนับสนุนธุรกิจ SME : ส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านการเงินและให้คำปรึกษา
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ : เพิ่มขีดความสามารถแรงงานด้านเทคโนโลยีและการจัดการ
ด้าน ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 50 ปีของ AJBM ถูกจัดขึ้นภายใต้ธีม “Building Resilient Partnerships for Sustainable Futures” หมายถึงการ สร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่งและยั่งยืนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า สะท้อนถึงความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นมาตลอดห้าทศวรรษที่ผ่านมา
โดยจะมีการหารือในประเด็นสำคัญ เช่น ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) การเคลื่อนย้าย (Mobilty) และการท่องเที่ยว (Touism) จากผู้เสวนาทรงคุณวุฒิ อาทิ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, Mr.Prasanna Kumar Ganesh-Executive Vice President, Toyota Motor Asia, นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
นอกจากนี้ ในการเสวนายังจะมีการหารือใน 3 หัวข้อสำคัญ ได้แก่ การเตรียมความพร้อมของบุคลากร (Human Resources), บทบาทของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และการสร้างความยั่งยืน (Sustainabilty) ซึ่งจะทำให้การเสวนาครอบคลุมเนื้อหาอย่างครบถ้วนในการจัดการกับความท้าทายที่ซับซ้อนที่ภูมิภาคอาเซียนและญี่ปุ่นกำลังเผชิญ
ทั้งนี้ ในวันที่ 7 พฤศจิกายน จะมีการสัมมนาเต็มวัน และในวันที่ 8 พฤศจิกายน จะมีกิจกรรม Thai Tourism Showcase ที่ผู้เข้าร่วมจากต่างประเทศจะมีโอกาสท่องเที่ยวและสัมผัสวัฒนธรรมไทยอีกด้วย
นายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เสริมว่า “The 50 ASEAN-Japan Business Meeting” (AJBM) ให้ความสำคัญกัญกับการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมงาน ในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นใน session ต่าง ๆ ร่วมกับวิทยากร
ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการต่อยอดแนวคิดและการสร้างเครือข่ายระหว่างภาคธุรกิจ ภาครัฐ นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคมหลังจบประชุม จะมีการจัดทำ Whitepaper เอกสารรวบรวมประเด็นสำคัญและข้อเสนอแนะจากที่ประชุมสำหรับผู้สัมมนาได้นำไปไปใช้ต่อ รวมถึงให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาและดำเนินการ
ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายที่มีประสิทธิภาพ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนในภูมิภาค
ทั้งนี้ การประชุม The 50 ASEAN-Japan Business Meeting (AJBM) ครั้งนี้ ถือเป็นวาระสำคัญที่รวบรวมผู้นำธุรกิจจากอาเชียนและญี่ปุ่นมาร่วมกันหารือถึงความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค เป็นเวทีสำหรับการสะท้อนความคิด และการก้าวไปข้างหน้า เป็นโอกาสในการยืนยันถึงความมุ่งมั่นต่อความร่วมมือที่จะปทางสู่อนาคดที่สดใสและมั่นคงมากขึ้นสำหรับภูมิภาคอาเซียนและญี่ปุ่น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 18 กันยายน 2567