ส่งออกข้าวไทยปี 68 เหนื่อยเงินบาทแข็ง-"อินเดีย"แย่งตลาด
ภาคเอกชน เผย ทิศทางการส่งออกข้าวไทยปี 2568 เจออุปสรรคหลายด้าน อินเดียส่งสัญญานกลับมาส่งออก แย่งตลาดข้าวขาว ขณะที่ เงินบาทไทยแข็งค่า ส่งผลกระทบต่อการส่งออก
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ทิศทางการส่งออก ข้าวไทยในปีนี้ มีโอกาสทำได้ดีสูงถึง 9 ล้านตัน แต่ที่ยังเป็นห้่วงการส่งออกในปีหน้า ที่จะเผชิญ อุปสรรคมากขึ้น และมีความเสี่ยงส่งออกได้ลดลงเหลือแค่ 6.5-7.5 ล้านตัน
เนื่องจากมีปัจจัยกระทบหลายด้านโดยเฉพาะ การกลับมาส่งออกข้่าวขาวของประเทศอินเดียครั้งแรกในรอบ 2 ปี
ทั้งนี้ ล่าสุดผู้ส่งออกอินเดียได้แจ้งว่า เร็วๆ นี้รัฐบาลอินเดียจะมีการยกเลิกประกาศแบนการส่งออกข้าวขาว หมายความว่าอินเดียจะกลับมาส่งออกข้าว ซึ่งอาจจะกระทบไทยเป็นอย่างมาก เพราะอินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวขาวอันดับ1 ของโลก
ขณะเดียวกัน ปกติอินเดียจะส่งข้าวขาวปีละ 5 ล้านตัน ซึ่งในช่วงอินเดียหยุดส่งออกข้าวขาว ทำให้ไทยได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านตัน หากอินเดียกลับมาก็จะทำให้การส่งออกข้าวหายไปในส่วนนี้ โดยเฉพาะตลาดมาเลเซีย ที่สำคัญ การส่งออกของอินเดียจะทำให้ราคาตลาดโลกลดลง ซึ่งคาดว่า ข้าวขาวไทยมีโอกาสปรับตัวลง ประมาณ 30-50 ดอลลาร์/ ตัน
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยน่าเป็นห่วงเรื่องของค่าเงินบาท ค่าเงินจากนี้สำหรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าและกำลังทยอยส่งมอบ ซึ่งทุก 1 บาทต่อดอลลาร์ที่แข็งค่าหรืออ่อนค่า จะมีผลต่อราคาส่งออกข้าวไทย 15 ดอลลาร์ต่อตัน
เช่น เดือนก่อนหน้านี้เงินบาทเฉลี่ย 35-36 บาท วันนี้ 33 บาท มีผลต่อราคาข้าวไทยแล้ว 50 ดอลลาร์ต่อตัน เทียบกับประเทศผู้ส่งออกข้าวโลก ไทยแข่งขันด้านราคาได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ
สะท้อนจากการเปิดประมูลข้าวของอินโดนีเซีย 3.5 แสนตัน ขณะที่เวียดนาม เมียนมา และปากีสถาน ชนะประมูลรวมกว่า 2 แสนตัน
วันที่ 24 กันยายนนี้ อินโดนีเซียจะเปิดประมูลนำเข้าข้าวอีก 4.5 แสนตัน และยังจัดไทยใปร่วมกลุ่มกับปากีสถานและกัมพูชาในการพิจารณา ก็มีโอกาสน้อยที่ได้จะชนะประมูล เพราะเมื่อเทียบค่าบาทแข็งค่าวันนี้ ราคาส่งออก(FOB) ปากีสถานไม่เกิน 510 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่ต้นทุนไทยต้องขาย 560 ดอลลาร์ต่อตัน
นอกจากนี้ จากสถานการณ์น้ำท่วมมองว่า ยังไม่กระทบต่อผลผลิต แต่ขอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง หากไม่มีพายุซ้ำ ก็จะไม่ส่งผลกระทบ และทั้งปี มองว่าผลผลิตข้าวเปลือกของไทย จะอยู่ที่ 32-34 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม อยากขอให้รัฐบาล รับมือปัญหาการส่งออกข้าวไทย โดยเฉพาะการวางแผนการเพาะปลูก ผลผลิต และหาตลาดล่วงหน้า หากไม่มีการวางแผนไทยก็ตกอันดับผู้ส่งออจากที่ 2 ของโลก เป็นที่ 3 ของโลก
อีกทั้ง ไม่ควรนำนโนยายอุดหนุนราคา เช่น จำนำข้าว หรือ ประกันรายได้ กลับมาใช้ ประกอบกับปีหน้า ผลผลิตข้าวไทยสูงขึ้น เนื่องจากปีนี้น้ำในเขื่อนมีปริมาณเยอะ น่าจะเพียงพอต่อการเพาะปลูก สวนทางกับความต้องการข้าวทั่วโลกที่จะลด เช่น อินโดนิเซีย นำเข้าลดลง 4 ล้านตัน เนื่องจากมีความต้องการทางอาหารลดลง
นายรวิสักก์ วานิชจักร์วงศ์ กรรมการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ตลาดข้าวไทย 7 เดือนที่ผ่านมาทางประเทศไทยสามารถทำได้ดีในเรื่องเชิงปริมาณ เพิ่มขึ้นมาจากปีที่แล้วประมาณ 22%
อย่างไรก็ตาม ต้องเผชิญกับความท้าทายสำหรับข้าวไทยในอนาคต โดยมี 3 เรื่องหลักได้แก่
1. ราคาค่าเงินบาท เมื่อเทียบสกุลเงินประเทศส่งออกอื่นๆ ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าสูงกว่าประเทศอื่นๆ 5% ส่งผลให้มีอำนาจในการต่อรองราคาการซื้อข้าว อาจะส่งกระทบต่อไทยได้
2. ประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย มีการเก็บเกี่ยวผลผลิต 38.5 ล้านตัน ต้องติดตามเปลี่ยนแปลงของอินเดีย ซึ่งอาจจะมีการกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้ง และเชื่อว่าจะมีการลดราคาส่งออก นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายลูกค้าก็ลดจำนวนการซื้อขายข้าวเพื่อดูทิศทางของอินเดีย
3. นโยบายตลาดอินโดนิเซีย ซึ่งเป็นผู้บริโภคใหญ่ที่สุด หากมีการเปลี่ยนการนำเข้า ก็ส่งผลกระทบต่อการซื้อในระดับสากล
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 18 กันยายน 2567