น้ำท่วม ฉุดความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ส.อ.ท.ชงรัฐอัดมาตรการเยียวยาธุรกิจ
ส.อ.ท.ชี้พิษอุทกภัย-บาทแข็ง ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ส.ค.ลดลง ห่วงปัจจัยด้านลบจากสถานการณ์น้ำท่วม แนะภาครัฐออกมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจ คลอดแผนเยียวยาผลกระทบน้ำท่วม เสนอใช้มาตรการภาษี แนะรัฐบาลวางแผนแก้ปัญหาระยะยาว
สถานการณ์น้ำท่วมที่ขยายวงกว้างจากภาคเหนือไปถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งอยู่ในช่วงการเฝ้าระวังน้ำหลากในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ทำให้เป็นแรงกดดันที่สำคัญอีกปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม
โดยเฉพาะในภาคเหนือที่ประเมินว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 27,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะสูงขึ้น รวมทั้งที่ผ่านมามีผู้ประกอบการโรงงานที่ได้รับผลกระทบ เช่น น้ำท่วมโรงงานและเครื่องจักรเสียหาย และน้ำท่วมจะมีผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในอนาคต
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค.2567 อยู่ที่ระดับ 87.7 ลดลงจากเดือน ก.ค.ปีนี้ ที่อยู่ระดับ 89.3
ทั้งนี้ มีปัจจัยด้านลบจากอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ที่สะท้อนจากยอดขายรถยนต์ในประเทศ 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.2567) อยู่ที่ 354,421 คัน หดตัว 23.71% โดยเฉพาะรถกระบะและรถบรรทุกเพราะความเข้มงวดการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน
ขณะที่กำลังซื้อยังเปราะบางจากความกังวลเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.8% ต่อ GDP ในไตรมาส 2 ปี 2567 ซึ่งกดดันการบริโภคในประเทศ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูงทั้งค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบและต้นทุนการเงิน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ทำให้สินค้าไทยแข่งขันไม่ได้ เพราะต้นทุนสูงกว่าทำให้ยอดขายลดลง
นอกจากนี้ ปัญหาอุทกภัยในภาคเหนือและภาคกลางได้สร้างความเสียหายให้แก่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงส่งผลให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวลง และในด้านการส่งออกอัตราค่าระวางเรือ (Freight) ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางสหรัฐและยุโรปจากการเร่งส่งออกของจีนและสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น
ทั้งนี้ ส.อ.ท.มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐเพื่อแก้ปัฯหาที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ โดยต้องการให้ออกมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย อาทิ ยกเว้นภาษีนิติบุคคล ขยายเวลาการยื่นภาษี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร รวมทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 19 กันยายน 2567