น้ำท่วมฉุดค้าปลีกวูบพันล้าน แนะรัฐเตรียมพร้อมระบบจัดการอุทกภัยในอนาคต
สถานการณ์น้ำท่วมกระทบภาคค้าปลีก 1,000 ล้าน สมาคมผู้ค้าปลีก ผนึกพลังสมาชิกลดราคาสินค้าจำเป็นกว่า 15,000 รายการ เปิดพื้นที่ขายไม่คิดค่าใช้จ่ายให้ร้านค้า เอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบเดินหน้าฟื้นธุรกิจ แนะรัฐเร่งเยียวยา เตรียมระบบบริหารจัดการน้ำแก้ปัญหาอุทกภัยในอนาคต
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดในปัจจุบันสร้างผลกระทบต่อภาคค้าปลีกไทยมากกว่า 1,000 ล้านบาท สมาคมฯ จึงได้ผนึกกำลังผู้ประกอบการค้าปลีกทั่วประเทศ ร่วมกันลดราคาสินค้าเป็นกรณีพิเศษเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน
พร้อมทั้งจัดโซนพื้นที่สำหรับจำหน่ายสินค้าให้ผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง
ทั้งนี้ สมาชิกในสมาคมผู้ค้าปลีกไทย อาทิ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เดอะมอลล์ สยามพิวรรธน์ บิ๊กซี โลตัส ฯลฯ จัดสรรพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นการชั่วคราวในระหว่างรอการฟื้นฟู เพื่อให้เอสเอ็มอีได้มีเวลาเตรียมความพร้อมในการกลับไปดำเนินธุรกิจอีกครั้งในช่วงตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป
นอกจากนี้สมาชิกของสมาคมฯ ยังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ นำทีมพนักงานอาสาลงพื้นที่มอบถุงยังชีพเพื่อร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีกด้วย เช่น เครือกลุ่มเซ็นทรัล เครือซีพี เดอะมอลล์กรุ๊ป เป็นต้น
"สมาคมฯ ขอเสนอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการค้าปลีก ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม อาทิ การพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย การยกเว้นภาษีนิติบุคคล การขยายเวลาการยื่นภาษี การลดอัตราการส่งเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้าง และลดอัตราค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยซึ่งอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต"
อย่างไรก็ดี แม้ว่าที่ผ่านมากำลังซื้อของผู้บริโภคจะยังไม่คึกคักเท่าที่ควรจากปัจจัยหลากหลายรอบด้าน อาทิ ค่าครองชีพที่ยังคงสูง หนี้ครัวเรือน ค่าพลังงาน ความไม่แน่นอนของมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายของภาครัฐ ภัยธรรมชาติ และอื่นๆ แต่ภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีกในเดือนสิงหาคม 2567 ได้ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี
ดังนั้น หากรัฐบาลเร่งรัดออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมและต่อเนื่อง มุ่งเป้าตรงจุด ก็จะส่งผลให้เกิดสัญญาณฟื้นตัวเป็นบวกอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการค้าปลีกยังมีความหวังว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าซึ่งเป็นช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยว จะช่วยกระตุ้นเม็ดเงินจับจ่ายภายในประเทศให้กระเตื้องขึ้นได้เป็นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
สำหรับการจัดโซนพื้นที่สำหรับจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย อาทิ
กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เช่น
- ไทวัสดุ ลดราคาสินค้าในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซม-ตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ร่วมรายการ ลดสูงสุด 60%
- ดูโฮม ลดราคาสินค้าในกลุ่มซ่อมแซม อาทิ อุปกรณ์ไฟฟ้า สีและเคมีภัณฑ์ อุปกรณ์สุขภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และของใช้ในบ้าน ลดสูงสุด 60%
- โฮมโปร มอบเงินช่วยเหลือผ่านโฮมโปร วอลเล็ต มูลค่า 300 บาท ให้สมาชิกโฮมการ์ด รวมทั้งการนำอุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหายจากน้ำท่วมมาแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่เพื่อรับส่วนลดรวมสูงสุดกว่า 10,000 บาท เป็นต้น
กลุ่มอุปโภคบริโภค เช่น
- ท็อปส์ ลดราคาสินค้าค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน กว่า 7,000 รายการ ล็อคราคาสินค้าจำเป็นอีกกว่า 400 รายการ
- บิ๊กซี ลดราคาสินค้าในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารสด ของใช้ในครัวเรือนทุกรายการ และร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัดสินค้าลดราคาออกหน่วยธงฟ้าบริการประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย
- แม็คโคร สนับสนุนการลดราคาสินค้าจำเป็น กว่า 4,000 รายการ
- โลตัส ลดราคาสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภคจำเป็น ยารักษาโรค กว่า 5,000 รายการ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 20 กันยายน 2567