ธุรกิจอาหาร-เกษตรแปรรูป ชี้เงินบาทแข็งค่า สร้างสุญญากาศออเดอร์ใหม่ช่วงคริสมาสต์
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งตัวแทนจากสมาคมด้านอาหาร ที่ร่วมแถลงข่าวความคิดเห็นของหอการค้าฯ กับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ และการดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่ภาคธุรกิจไทยแข่งขันได้ความคิดเห็นของหอการค้าฯ กับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ และการดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่ภาคธุรกิจไทยแข่งขันได้ ในวันที่ 23 กันยายนนั้น
กล่าวว่า ในฐานะกลุ่มอาหารแปรรูป ที่ต้องใช้วัตถุดิบในประเทศผลิตเพื่อส่งออก ค่าเงินบาทที่มีการเคลื่อนไหวขึ้นหรือลง ผันผวนเร็ว ในขณะนี้กำลังก่อปัญหาต่อการเจรจาขายสินค้าเพื่อส่งออกในล็อตใหม่ๆ ที่กำลังมีคำสั่งซื้อก่อนเข้าเทศกาลปีใหม่ เพื่อส่งมอบปลายปีและต้นปีถัดไป ซึ่งค่าบาทผันผวนและแข็งค่าเร็ว ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาแล้ว และแข็งค่าแล้วรวม 10%
ทำให้เกิด 2 เหตุการณ์ขึ้นกับผู้ประกอบการเลือกทางใด ระหว่างชะลอการขายเพราะแบกรับภาวะเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินบาทผันผวนเร็วไม่ไหว หรือจะกล่าวว่าเป็นภาวะสุญญากาศการขายก็ได้ ส่วนบางส่วนยังต้องขายแม้เสี่ยงขาดทุนเพราะต้องระบาดสต๊อกและให้มีเงินหมุนเวียนในการทำธุรกิจ
“ธุรกิจตอนนี้เหนื่อยมาก เจอหลายด้าน ค่าเงินผันผวนเป็นปัญหาหนักเฉพาะหน้า จะไม่ขายก็ไม่ได้ เพราะการเข้าถึงสินเชื่อก็ต่ำ ธุรกิจต้องมีเงินหมุนเวียน อาจย่อมขาดทุนบ้างหรือกำไรเล็กน้อยไว้ก่อน จริงที่เอกชนต้องการไม่ใช่ว่าเงินบาทต้องอ่อนเท่าไหร่ แต่ต้องดูแลให้มีเสถียรภาพ เคลื่อนไหวขึ้นหรือลงไปตามคู่ค้าคู่แข่ง ค่าเฉลี่ยผันผวนก็ไม่ควรเกิน 1-2% แต่เราเจอ 10% ในช่วง 2 เดือน
จะบอกว่าให้ประกันค่าเงิน ในทางปฏิบัติไม่ได้ทำได้ง่าย บางวันขึ้นลง 1 บาทต่อดอลลาร์ เราปรับตัวกันไม่ทัน ซึ่งหน่วยงานรัฐก็ต้องไปดูว่าเหตุที่ค่าเงินบาทแข็งค่านั้นปกติหรือไม่ และมีมาตรการอะไรที่ต้องคุมไม่ให้เกิดการเก็งกำไรอย่างที่มีการตั้งข้อสังเกตกัน เพราะบาทไม่น่าจะแข็ง ในภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเข้มที่และเรายังไม่มีโครงสร้างใหม่ๆ ที่จะดึงดูดนักลงทุนได้เต็มที่” นายวิศิษฐ์กล่าว
นายวิศิษฐ์กล่าวต่อว่า ในวันที่ 23 กันยายน ในฐานะสมาคมด้านอาหารแปรรูป ก็จะเสนอ 2-3 เรื่องหลัก คือ
1.อยากให้ดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนรุนแรงและแตกต่างจากประเทศคู่ค้ามากนัก จนเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ตอนนี้เมื่อบาทแข็งผู้ซื้อจะกดราคาลง ทั้งที่เราแบกรับต้นทุนสูงและยังได้เงินบาทลดลงจากบาทแข็ง
2.เร่งรัดการเข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี กำลังเจอปัญหาสภาพคล่อง
3.ต้องจัดระบบนิเวศ (Ecosystem) สอดคล้องกันทั้งภาคเกษตร และซัพพลายเออร์ เช่น หาแนวทางให้เกิดความชัดเจนและนิ่งในด้านควบคุมปริมาณผลผลิตที่จะออกตลาดให้สม่ำเสมอ ที่จะมีผลต่อต้นทุนราคารับซื้อวัตถุดิบด้วย เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะนำเสนอในการแถลงข่าว เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งให้รัฐบาลประกอบแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูประเทศต่อไป
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 22 กันยายน 2567