แบงก์ชาติ "เอเชีย" ไม่รีบลดดอกเบี้ย! หลัง "เฟด" ฉีดยาแรงหั่น 0.5%
จับทิศทางแบงก์ชาติ "เอเชีย" ไม่รีบลดดอกเบี้ย! หลัง "เฟด" ฉีดยาแรง หั่นดอกเบี้ย 0.5% นักวิเคราะห์มองภูมิภาคจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศ ดำเนินนโยบายการเงินแบบ "ระวัง" มากขึ้น
สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า การผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% โดยปกติแล้วจะทำให้ธนาคารกลางในภูมิภาค “เอเชีย” ดำเนินนโยบายการเงินยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ขณะนี้กลับเลือกที่จะดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวังและยังไม่เร่งรีบที่จะลดดอกเบี้ยตามเฟด
เฉียน หวัง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Vanguard มองว่า ธนาคารกลางเอเชียมีช่องว่างในการปรับลดดอกเบี้ยได้ แต่ก็ยังไม่จำเป็นต้องเร่งรีบดำเนินการในขณะนี้
หวัง อธิบายว่าธนาคารกลางในเอเชียจะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของเฟด)และปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค ด้วยเหตุนี้ธนาคารกลางเหล่าจึงมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป มากกว่าการปรับลดครั้งใหญ่ในทันที
คาดเอเชียลดดอกเบี้ย 0.25% :
อาดาร์ช ซินฮา หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์อัตราแลกเปลี่ยนของเอเชียที่ BofA Global Research ในฮ่องกง คาดว่าธนาคารกลางของอาเซียนส่วนใหญ่จะเข้าสู่ "วัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป" และมองว่าเศรษฐกิจอาเซียนจะขยายตัวได้ 4.7% ในปีหน้า ถึงแม้ว่ามีโอกาสที่จะเติบโตได้ดีว่าที่คาดการณ์ไว้
"จากการคาดการณ์นี้ เสนอให้ลดดอกเบี้ยครั้งละไม่เกิน 0.25% ในแต่ละไตรมาส ซึ่งเป็นการปรับลดที่ค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเทียบกับเฟดที่คาดว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่า โดยคาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยลง 0.75% ในปีนี้ และอีก 1.25% ในปีหน้า” ซินฮากล่าว
จีน :
เศรษฐกิจจีนมีความสำคัญต่อภูมิภาคเอเชีย ดังนั้นการตัดสินใจของธนาคารกลางจีนจึงเป็นที่จับตามองต่อนักลงทุนในภูมิภาค
ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี เอาไว้ที่ระดับ 3.35% และคงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปี ที่ระดับ 3.85% แม้ว่าก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคม ธนาคารกลางจีนจะได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามสัญญาซื้อคืน 7 วันลงเหลือ 1.7% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงก็ตาม
หวังจาก Vanguard มองว่า PBOC จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ย และการตัดสินใจคงดอกเบี้ยในครั้งนี้สวนทางกับสัญญาณเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่องบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญภาวะ “เงินฝืด” ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยดัชนีราคาผู้บริโภคจีนเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 0.6% จากปีก่อนซึ่งน้อยกว่าที่คาดไว้
อย่างไรก็ดี วันนี้ (23 ก.ย.) PBOC ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Reverse repo ระยะ 14 วัน ลง 0.1% มาอยู่ที่ระดับ 1.85% พร้อมอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงินการธนาคารอีก 7.45 หมื่นล้านหยวน (เกือบ 3.5 แสนล้านบาท) ซึ่งนับเป็นการลดดอกเบี้ยลงอีกครั้ง หลังจากที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจส่งสัญญาณแย่ต่อเนื่องจนเสี่ยงทำให้หลุดเป้าหมายการเติบโตของจีดีพีที่ 5%
ก่อนหน้านี้ “อี้ กัง” อดีตผู้ว่าการธนาคารกลาง ยอมรับต่อสาธารณะถึงความยากลำบากทางเศรษฐกิจของประเทศว่า จีนต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อต่อสู้กับแรงกดดันด้านภาวะเงินฝืดโดยการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ
ไทย :
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่าการดำเนินนโยบายการเงินของไทย กนง.ยังคงพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลักที่เป็น Outlook Dependent ทั้งจาก แนวโน้มเศรษฐกิจ ว่าเติบโตเข้าสู่ศักยภาพหรือไม่ เงินเฟ้อเข้ากรอบหรือไม่ และตัวที่สามคือ เสถียรภาพด้านการเงินที่เป็นตัวหลักที่ กนง.ติดตามมากขึ้น
ทั้งนี้หากถามว่า การลดดอกเบี้ยของเฟด มีผลต่อกดดันต่อการลดดอกเบี้ยของ กนง.หรือไม่
“ต่อให้เฟดลดดอกเบี้ยหรือไม่ลด แรงกดดันต่อ กนง.ก็มีอยู่แล้ว แต่การที่เฟดลดดอกเบี้ย ก็ไม่ใช่ว่าเราต้องลด แต่การที่เฟดลดดอกเบี้ยกระทบต่อหลายตัวแปรต่างๆ ที่เราต้องคำนึงถึงในการพิจารณาดอกเบี้ยมากขึ้น" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
มาเลเซีย :
ซินฮา คาดว่าธนาคารกลางมาเลเซียจะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 3% จนถึงปีหน้า โดยให้เหตุผลว่า “ภาวะเงินเฟ้อ” ของประเทศอยู่ในระดับที่ควบคุมได้และเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ธนาคารกลางมาเลเซียจะต้องลดดอกเบี้ยตอนนี้
นอกจากนี้ สกุลเงินริงกิตที่ขึ้นมาแข็งค่าเคลื่อนไหวที่ระดับ 4.1803 ต่อดอลลาร์ หลังจากที่เคยร่วงลงต่ำสุดในรอบ 26 ปีเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
อินเดีย :
“เฟรเดอริก นอยมันน์” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชียของ HSBC ประจำฮ่องกงมองว่า แม้เฟดลดดอกเบี้ยจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอินเดียบ้าง แต่ปัจจัยภายในประเทศของอินเดียมีความสำคัญมากกว่าสำหรับการกำหนดทิศทางดอกเบี้ย
HSBC คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางอินเดียจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 6.50% ในการประชุมครั้งหน้า แต่มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. หากราคาอาหารและน้ำมันมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ไต้หวัน :
ธนาคารกลางไต้หวันประกาศคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2% เมื่อวันที่ 19 ก.ย. เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและสถานการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ร้อนแรง
อินโดนีเซีย :
แม้หลายประเทศในเอเชียจะรอคอยการเคลื่อนไหวเฟด แต่ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศผลการประชุม ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 6% ซึ่งนับเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี สะท้อนให้เห็นว่าอินโดนีเซียมีความมั่นใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่สอดคล้องกับสถานการณ์ภายในประเทศมากขึ้น
อย่างไรก็ดี หนึ่งในปัจจัยภายนอกที่อาจทำให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจได้ คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ย. 2567 โดยที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” เผยว่า จะดำเนินนโยบายเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทั้งหมด 10% และเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 60% หากได้กลับไปดำรงตำแหน่ง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 23 กันยายน 2567