"หอการค้าไทย" วอนรัฐแก้เงินบาทแข็งค่า แนะกนง.ลดดอกเบี้ยด่วน
หอการค้าไทยประกาศหนุน 10 นโยบาย “กระทรวงพาณิชย์ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ผู้ประกอบการ ออกมาตรการฟื้นฟูน้ำท่วม มั่นใจเงินดิจิทัล 10,000 บาท กระตุ้นการจับจ่ายทันที วอนรัฐเร่งแก้หนี้ใน-นอกระบบ ดูแลค่าเงินบาท หลังแข็งค่าเร็วแรง 8-10% ประเมิน 1% เสียหาย 1 แสนล้าน กระทบภาคส่งออก ต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมเกษตร-ประมงพุ่ง 10% จี้ กนง.ปรับลดดอกเบี้ย คาดจีดีพีปีนี้โต 2.6-2.8% หลังรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส 4
วันที่ 23 กันยายน 2567 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากการเข้าพบท่านนายกรัฐมนตรี และได้ยื่นสมุดปกขาว ด้านกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศ 10 นโยบาย ประกอบด้วย นโยบายลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส การบริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้บริโภค เกษตรกร และผู้ประกอบการ การแก้ข้อจำกัดของกฎหมาย และปรับปรุงข้อกฎหมายที่ล้าสมัย ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจฐานราก เร่งผลักดันการส่งออกให้ตัวเลขเป็นบวกขึ้น
การเร่งเจรจา FTA พานักธุรกิจไทยไปต่างประเทศ การปรับโครงสร้างการส่งออกให้ทันสมัย และการส่งเสริมสินค้ารักษ์โลก ซึ่งหลายมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ตรงกับข้อเสนอและแนวทางของหอการค้าไทยที่อยู่ระหว่างดำเนินการควบคู่ไปกับรัฐบาล ทั้งนี้ สามารถแบ่งมาตรการต่าง ๆ ออกเป็น
3 กลุ่มคือ
1) มาตรการที่กระทบต่อคนส่วนใหญ่ ทั้งการลดค่าใช้จ่าย และมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ตลอดจนการนำเอาสินค้าร้านธงฟ้าเข้าไปช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของคนในพื้นที่ ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเงิน 1 หมื่นบาท เชื่อว่าจะเกิดการใช้จ่ายทันที นอกจากนี้ ระยะสั้น หอการค้าฯ ยังเห็นว่าสามารถดึงกำลังซื้อจากประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ได้ เช่น Easy E-Receipt เข้ามากระตุ้นการจับจ่ายในช่วงที่เหลือของปี โดยใช้งบประมาณภาครัฐไม่มาก
2) มาตรการสำหรับผู้ประกอบการ เร่งแก้หนี้ ทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ โดยเฉพาะหนี้ที่เป็นอุปกรณ์ทำมาหากินของผู้ประกอบการรายย่อย เช่น รถกระบะที่มีแนวโน้มถูกยึดสูง รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการเฉพาะเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มนี้ให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากินได้
สำหรับระยะยาว ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข หอการค้าฯ มีแผนที่จะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อพูดคุยและหาแนวทางที่เหมาะสมในการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นอกจากนี้ ในด้านการขยายตลาดต่างประเทศ ผ่านการทำงานเชิงรุกในประเทศกลุ่มเป้าหมาย Strategic Country เช่น ในตะวันออกกลาง ซาอุดีอาระเบีย จีน เวียดนาม และอินเดีย โดยรัฐบาลจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจังและวัดผลได้ เร่งผลักดัน FTA และเดินหน้าพื้นที่ EEC รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าไปขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และพัฒนาระบบน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนเดินหน้ายกระดับ 10 เมืองสู่เมืองหลัก เพื่อกระจายความเจริญไปทั่วประเทศ ทั้งในมิติการลงทุน การท่องเที่ยว และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งทั้งในและข้ามจังหวัดให้ดีขึ้น
3) นโยบายเฉพาะสำหรับแต่ละกลุ่ม เช่น ภาคการเกษตร หอการค้าฯ ได้มีการทำศูนย์ประสานงานสินค้าภาคเกษตรที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงความต้องการของตลาดกับสินค้าภาคเกษตรที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการหารือและเตรียมข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาสินค้าต่างประเทศทุ่มตลาดเข้ามายังประเทศไทย การส่งเสริม Green Industry ที่ไม่ใช่เฉพาะสินค้า แต่รวมถึงภาคการค้าและบริการด้วย
ท้ายที่สุด ฝากถึงรัฐบาลในการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 และ 68 โดยเฉพาะงบการลงทุนและก่อสร้าง ซึ่งส่วนนี้จะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่
ทั้งนี้ “หอการค้าฯ และเครือข่ายสมาชิกทั่วประเทศพร้อมสนับสนุนและทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงหน่วยงานภาคที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เห็นผลเป็นรูปธรรม” นายสนั่นกล่าว
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการคนที่ 1 หอการค้าไทยและ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น 8-10% อย่างรวดเร็วและรุนแรงในระยะสั้น ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00 บาท (+-) ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น ค่าใช้จ่ายสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะสูงขึ้นตาม ทำให้การท่องเที่ยวไทยกลายเป็นจุดหมายที่มีราคาสูง และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยจะจับจ่ายใช้สอยน้อยลง เพราะรู้สึกว่าสินค้าและบริการแพงขึ้นกว่าปกติ และอาจจะเลือกไปยังประเทศที่มีค่าเงินอ่อนกว่าและคุ้มค่ามากกว่านั้น
ซึ่งการที่ค่าเงินบาทผันผวนจะส่งผลกระทบใน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่
1) โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบ หรือปัจจัยการผลิตที่ใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรและประมงจะปรับสูงขึ้นทันที 10% ส่งผลให้ผู้ผลิตและแปรรูปในไทยอาจต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้นตาม ซึ่งจะทำให้ลดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากผู้ซื้อจะหันไปหาสินค้าจากประเทศอื่นที่มีราคาถูกกว่า
2) การวางแผนการผลิตและการตลาด หากค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ผลิตและแปรรูปอาจไม่สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดหรือการผลิตได้ทันเวลา ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3) ความไม่แน่นอนและเพิ่มความเสี่ยงทางธุรกิจส่งออก เนื่องจากความผันผวนของค่าเงิน ความผันผวนของค่าเงินสร้างความไม่แน่นอนในตลาด การลงทุน และการวางแผนธุรกิจจะยากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุนในโครงการใหม่หรือขยายตลาด ส่งผลให้ขาดโอกาสในการพัฒนาและเติบโตในอุตสาหกรรมของไทยอย่างเหมาะสม
ดังนั้น หอการค้าฯ จึงขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนอย่างรุนแรงจนเกินไป และดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภายในประเทศ
ด้าน รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเสริมว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้มีการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกลงแบบเร็ว-แรงที่ 0.50% จากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5.25-5.50% สู่ 4.75-5.00% ซึ่งหอการค้าฯ เห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่ กนง.ควรพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ประกอบการภาคการส่งออก และภาคท่องเที่ยวและบริการสามารถที่แข่งขันได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับความกังวลของภาคเอกชนในการติดตามอัปเดตสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินมูลค่าความเสียหายกรณีสถานการณ์น้ำท่วม ปี 2567 ประมาณ 21,577 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.12% ของ GDP (ข้อมูล ณ 18 ก.ย. 67) (สมมติให้สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายภายใน 15 วัน) หอการค้าฯ เห็นว่ารัฐบาลควรมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐเร่งจัดมาตรการทางการเงินช่วยเหลือ เช่น การพักชำระหนี้ การลดดอกเบี้ย หรือแม้แต่ Soft Loan เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว
ทั้งนี้ หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 กรณีนับรวมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในช่วง Q4 ของปีนี้ให้เติบโตราว 3.8-4.3% โดยทั้งปีจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นอีก 0.2-0.3% และทำให้ภาพรวม GDP ในปีนี้เติบโตจากเดิมที่คาดไว้ 2.5% เป็น 2.6-2.8%
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 23 กันยายน 2567