20 อันดับ "ศูนย์กลางการเงินโลก" ฮ่องกงทวงแชมป์เอเชียคืนจากสิงคโปร์
ประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่อยากให้เมืองในประเทศตนเป็น "ศูนย์กลางการเงินโลก" ซึ่งจะดึงเงินจากต่างประเทศเข้าไปหมุนเวียนในประเทศปีละมหาศาล พ่วงด้วยการมีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาชาวโลก
แต่สถานะ “ศูนย์กลางการเงิน” นั้นไม่ใช่สถานะที่หน้าใหม่จะสอดแทรกขึ้นไปอยู่อันดับต้น ๆ ได้โดยง่าย เพราะเมืองที่ครองอันดับต้น ๆ อยู่นั้นก็พัฒนาตนเองเพื่อแข่งขันแย่งชิงความเป็นหนึ่งอย่างไม่หยุดนิ่ง ในการจัดอันดับ “ศูนย์กลางการเงินโลก” ในแต่ละปีจะเห็นว่าชื่อที่อยู่หัวตารางจะเป็นชื่อเดิม ๆ ที่เปลี่ยนอันดับกันเองไปมา
สำหรับปีนี้ “ดัชนีศูนย์กลางการเงินโลก” (Global Financial Centres Index) ที่จัดทำโดย ซี/เยน พาร์ตเนอร์ส (Z/Yen Partners) บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจจากลอนดอน สหราชอาณาจักร ร่วมกับสถาบันการพัฒนาประเทศจีน (China Development Institute : CDI) ซึ่งจัดทำและเผยแพร่ปีละ 2 ครั้ง เพิ่งเผยแพร่ครั้งที่ 2 ของปี 2024 ออกมาเมื่อวันที่ 24 กันยายน ซึ่งปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ “ฮ่องกง” ทวงอันดับ 1 ศูนย์กลางการเงินในทวีปเอเชียกลับคืนมาจาก “สิงคโปร์” สำเร็จ
การจัดทำ “ดัชนีศูนย์กลางการเงินโลก” ล่าสุดนี้ ประเมินปัจจัยด้านต่าง ๆ ของเมืองที่เป็นศูนย์กลางการเงิน 121 แห่งทั่วโลก โดยใช้ข้อมูลจำนวนมากจากองค์กรระหว่างประเทศชั้นนำ เช่น ธนาคารโลก (World Bank) องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) องค์การสหประชาชาติ (UN) ฯลฯ บวกกับผลการสำรวจความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริการทางการเงินหลายพันคนที่ตอบแบบสอบถามผ่านออนไลน์
ปัจจัยในการประเมินแบ่งเป็น 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ การพัฒนาภาคการเงิน โครงสร้างพื้นฐาน ทุนมนุษย์ และชื่อเสียงของเมืองหรือประเทศ
ในภาพกว้างของการจัดอันดับปีนี้ จากทั้งหมด 121 เมือง ปรากฏว่า มี 58 เมืองที่อันดับขยับต่ำลง และ 46 เมืองที่อันดับขยับดีขึ้น
เมืองที่อันดับขยับดีขึ้น มีอย่างเช่น ดับลิน ชิคาโก และดูไบ ส่วนเมืองที่อันดับขยับต่ำลงก็อย่างเช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง หนานจิง เทียนจิน และเจนีวา ซึ่งจากรายชื่อเหล่านี้จะเห็นว่าเมืองจากประเทศจีนอันดับร่วงลงอย่างพร้อมเพรียง
ส่วนความท้าทายที่ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 1 ใน 5 ระบุว่าเป็นความท้าทายที่เร่งด่วนที่สุด คือ “ความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์”
และนี่คือ 20 อันดับเมืองที่ได้รับคะแนนประเมินสถานะ “ศูนย์กลางการเงินโลก” สูงที่สุดในการจัดทำ “ดัชนีศูนย์กลางการเงินโลก” ครั้งที่ 2 ของปี 2024
1)นิวยอร์ก (สหรัฐอเมริกา)
2)ลอนดอน (สหราชอาณาจักร)
3)ฮ่องกง (เขตปกครองพิเศษของจีน)
4)สิงคโปร์ (สิงคโปร์)
5)ซานฟรานซิสโก (สหรัฐอเมริกา)
6)ชิคาโก (สหรัฐอเมริกา)
7)ลอสแองเจลิส (สหรัฐอเมริกา)
8)เซี่ยงไฮ้ (จีน)
9)เสิ่นเจิ้น (จีน)
10)แฟรงก์เฟิร์ต (เยอรมนี)
11)โซล (เกาหลีใต้)
12)วอชิงตัน ดีซี (สหรัฐอเมริกา)
13)เจนีวา (สวิตเซอร์แลนด์)
14)ดับลิน (ไอร์แลนด์)
15)ปารีส (ฝรั่งเศส)
16)ดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)
17)ซูริก (สวิตเซอร์แลนด์)
18)ปักกิ่ง (จีน)
19)ลักเซมเบิร์ก (ลักเซมเบิร์ก)
20)โตเกียว (ญี่ปุ่น)
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 25 กันยายน 2567