ส่องแผนเศรษฐกิจทรัมป์ ชู "ฟื้นฟูการผลิต" เป็นหัวใจสำคัญ
นับถอยหลังเข้าใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2024 การนำเสนอนโยบายและแผนงานด้านต่าง ๆ ของผู้สมัครทั้งสองก็มีออกมาให้เห็นมากขึ้น
ตามที่รอยเตอร์ (Reuters) ได้รวบรวมข้อมูลแผนเศรษฐกิจของ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกันตลอดเดือนกันยายน ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายของการหาเสียง แสดงให้เห็นว่า ทรัมป์กำหนดให้ “ภาษีศุลกากร” และ “การลดหย่อนภาษี” เป็นองค์ประกอบสำคัญของการนำเสนอแผนทางเศรษฐกิจต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจเป็นประเด็นการรณรงค์หาเสียงที่ใหญ่ที่สุดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปีนี้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กันยายน เวลาท้องถิ่นสหรัฐ ทรัมป์กล่าวปราศรัยหาเสียงที่เมืองซาวานนาห์ รัฐจอร์เจีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของหนึ่งในท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐและศูนย์กลางผลิตรถยนต์แห่งใหม่ของสหรัฐ ใจความสำคัญทรัมป์ระบุว่า “การฟื้นฟูการผลิต” เป็นหัวใจสำคัญในแผนเศรษฐกิจของเขา ทรัมป์ต้องการดึงดูดบริษัทต่างชาติให้มาลงทุนในสหรัฐ และจะ “ดึง” เอาตำแหน่งงานในภาคการผลิตรวมถึงโรงงานจากต่างประเทศกลับคืน ไม่เว้นแม้แต่พันธมิตรสหรัฐ อย่างเกาหลีใต้ เยอรมนี และแน่นอนคู่แข่งทางเศรษฐกิจจากจีน
เพื่อที่จะทำให้สำเร็จตามแผน ทรัมป์บอกว่าจะนำเสนอสิ่งจูงใจให้แก่บริษัทต่างชาติ ทั้งอัตราภาษีที่ต่ำและกฎระเบียบที่น้อย-สะดวกต่อการทำธุรกิจ โดยจะสร้างเขตการผลิตภาษีต่ำและกฎระเบียบน้อยเป็นพิเศษบนที่ดินของรัฐบาลกลาง ตลอดจนให้คำมั่นที่จะแต่งตั้งทูตด้านการผลิตระดับโลก เพื่อโน้มน้าวบริษัทต่างชาติย้ายมาสหรัฐ แต่ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด
ภาษีนำเข้า :
ทรัมป์เสนอแผนเก็บภาษีนำเข้าแบบครอบคลุม 10% ถึง 20% สำหรับสินค้านำเข้าเกือบทั้งหมด และจะเรียกเก็บภาษี 60% หรือมากกว่านั้นสำหรับสินค้าจากจีน เพื่อส่งเสริมภาคการผลิตของสหรัฐ
เมื่อวันที่ 23 กันยายน ทรัมป์กล่าวว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าเป็น 200% สำหรับการนำเข้าสินค้าของบริษัทจอห์น เดียร์ (John Deere) ผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรและเครื่องจักรกลหนักรายใหญ่ของสหรัฐ หากบริษัทย้ายการผลิตไปยังเม็กซิโกตามแผนที่วางไว้ ซึ่งข้อเสนอนี้ของทรัมป์ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของ จอห์น เดียร์ แล้ว
แม้ทรัมป์พูดบ่อยครั้งว่าจะโจมตีผู้ผลิตรถยนต์ที่ย้ายการผลิตไปยังเม็กซิโกด้วยการเก็บภาษี 200% แต่การปราศรัยหาเสียงเมื่อ 23 กันยายน ดูเหมือนเป็นครั้งแรกที่ทรัมป์เพิ่มการข่มขู่ไปที่บริษัทอุปกรณ์การเกษตรด้วย
ทั้งนี้ หากทรัมป์ขึ้นภาษีตามที่บอกจริง อาจเป็นการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรี USMCA ระหว่างสหรัฐ เม็กซิโก และแคนาดา ซึ่งทรัมป์เป็นคนลงนามในกฎหมายเองเมื่อปี 2020
ทรัมป์กล่าวปราศรัยเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่รัฐจอร์เจียว่าจะเก็บภาษี 100% สำหรับรถยนต์ทุกคันที่นำเข้ามาผ่านทางชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่าจะให้รางวัลแก่ผู้ผลิตในสหรัฐ ด้วยการลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการวิจัยและการพัฒนา
สหพันธ์การค้าปลีกแห่งชาติของสหรัฐ (National Retail Federation) ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทห้างค้าปลีกของสหรัฐอย่าง วอลมาร์ต (Walmart) และบริษัทอื่น ๆ ที่มีสัดส่วนปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด เป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่คัดค้านการเก็บภาษีศุลกากรที่ทรัมป์เสนอ และนักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่าจะจุดชนวนภาวะเงินเฟ้อ
ผลการสำรวจความคิดเห็นที่สำนักข่าวรอยเตอร์จัดทำร่วมกับอิปซอส (Ipsos) เมื่อวันที่ 11-12 กันยายน ระบุว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสียงข้างมากแต่ไม่เด็ดขาด สนับสนุนคำมั่นในการรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้า โดยเฉพาะสำหรับสินค้าจากจีน
การลดภาษีสำหรับผู้ผลิตในประเทศ :
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยกล่าวว่าจะลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 21% เหลือ 15% แต่ยังไม่ได้นำเรื่องอัราภาษีมาผูกติดกับเรื่องการผลิตในประเทศ
จนกระทั่งในช่วงต้นเดือนกันยายน ทรัมป์นำแผนการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลมาผูกติดกับการรักษาการผลิตในประเทศเป็นครั้งแรก โดยให้คำมั่นที่จะลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 21% เหลือ 15% สำหรับบริษัทที่ผลิตสินค้าในสหรัฐ
ทั้งนี้ ก่อนนี้ ทรัมป์ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือ 21% จาก 35% ระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2017-2021
ไม่เก็บภาษีค่าล่วงเวลา ทิป รายได้ประกันสังคม :
ทรัมป์กล่าวเมื่อวันที่ 12 กันยายนว่า หากเขาได้รับเลือก เขาจะยุติการเก็บภาษีทั้งหมดที่มาจากค่าล่วงเวลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจลดหย่อนภาษีที่กว้างขึ้น และจะออกกฎหมายเพื่อยุติการเก็บภาษีทิป อีกทั้งยังให้คำมั่นว่าจะยกเว้นรายได้จากประกันสังคมจากภาษีด้วย
ขณะที่แฮร์ริสได้ให้คำมั่นสัญญาที่คล้ายกัน จากในปัจจุบันที่กฎหมายกำหนดให้คนทำงานต้องรายงานทิปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณเงินได้เพื่อจ่ายภาษี
ขยายเวลาการลดหย่อนภาษี :
ทรัมป์ต้องการขยายเวลาการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดที่เขาผลักดันผ่านสภาคองเกรสในปี 2017 รวมถึงชาวอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีและงบประมาณคาดการณ์ว่า การขยายเวลาการลดหย่อนภาษีดังกล่าวจะลดรายได้รัฐในช่วง 10 ปีข้างหน้าประมาณ 3.3 ล้านล้าน ถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 107 ล้านล้านบาท ถึงราว 130 ล้านล้านบาท)
ข้อเสนอทางเศรษฐกิจอื่นๆ :
นอกเหนือจากเรื่องการลดภาษีและการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรแล้ว ทรัมป์ยังสัญญาว่าจะสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ โดยการสนับสนุนการลงทุนสร้างท่อส่งน้ำมันใหม่และฟื้นฟูเทคโนโลยีขุดเจาะน้ำมันแบบแฟรกกิ้งบนที่ดินของรัฐบาลกลาง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยเมื่อวันที่ 24 กันยายน ทรัมป์กล่าวว่า หากชนะการเลือกตั้ง เขาจะนำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติอาร์กติก (Arctic National Wildlife Refuge) ในรัฐอลาสกา ซึ่งฝ่ายบริหารของไบเดนยกเลิกสัญญาเช่าขุดเจาะน้ำมันและก๊าซไปแล้วนั้น กลับมาให้เช่าเพื่อดำเนินการขุดเจาะได้อีกครั้ง
ทรัมป์ยังกล่าวอีกว่าเขาจะพิจารณายุติเครดิตภาษี 7,500 ดอลลาร์ (ราว 245,000 บาท) สำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์พยายามยกเลิกเครดิตภาษีรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต่อมาประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ขยายเพิ่มขอบเขตนโยบายนี้ในปี 2022
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 18 เดือนกันยายนที่ผ่านมา ในการรณรงค์หาเสียงในนครนิวยอร์ก ทรัมป์ให้คำมั่นที่จะกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตไว้ที่ประมาณ 10% เป็นการชั่วคราว
ด้าน คามาลา แฮร์ริส ตัวแทนพรรคเดโมแครตมีกำหนดจะกล่าวหาเสียงนำเสนอแผนทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในวันพุธ (25 กันยายน ตามเวลาท้องถิ่น) ที่รัฐเพนซิลเวเนีย
นักคาดการณ์งบประมาณที่มีชื่อเสียงหลายรายคาดว่าแผนการลดภาษีของทรัมป์จะทำให้รัฐบาลกลางต้องขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3.6 ล้านล้านดอลลาร์ถึง 6.6 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 117 ล้านล้านบาท ถึง 215 ล้านล้านบาท) ในช่วง 10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ จำนวนที่แท้จริงขึ้นอยู่กับแผนนโยบายที่นำไปใช้จริงว่าจะลดรายได้-เพิ่มรายจ่ายของรัฐมากน้อยเพียงใด
ในทางตรงข้าม นักคาดการณ์คาดว่า แผนการใช้จ่ายงบประมาณและแผนการลดหย่อนภาษีของ คามาลา แฮร์ริส ตัวแทนพรรคเดโมแครต จะเพิ่มการขาดดุลน้อยกว่าแผนของทรัมป์มาก หรืออาจจะสามารถลดการขาดดุลงบประมาณกลางลงได้ด้วย โดยช่วงคาดการณ์ คือ อาจจะลดการขาดดุลงบประมาณลง 400,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 13 ล้านล้านบาท) จนถึงอาจจะเพิ่มการขาดดุลงบประมาณ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 45 ล้านล้านบาท) ในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งตัวเลขที่แท้จริงจะขึ้นอยู่กับแผนนโยบายที่จะนำเสนอและนำไปใช้จริงเช่นกัน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 26 กันยายน 2567