คลัง เร่งออกสินเชื่อ "ดอกถูก-ผ่อนนาน" ช่วยผู้ประกอบการน้ำท่วม
"พิชัย" คาด ปล่อยกู้บ้านผู้ประกันตน ได้ 5 พันหน่วย เฟสต่อไปอยากดึงแบงก์พาณิชย์ร่วมโครงการด้วย รัฐบาล ศึกษาเพิ่มดีมานด์ซื้อบ้าน คลังเตรียมสินเชื่อ ดอกถูก-ผ่อนนาน ช่วยผู้ประกอบการน้ำท่วม
เมื่อวันที่ 26 กันยายน นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) จัดทำโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน ปี 2567 ว่า โครงการดังกล่าว ผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39 หรือ 40 ที่ต้องการซื้อ หรือปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในที่ดินของตนเอง ภายใต้วงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท กรณีที่เกิน 2 ล้านบาท สามารถใช้ผลิตภัณฑ์อื่นของ ธอส.ได้ ทั้งนี้ กรอบวงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะทำให้เกิดการซื้อขายที่อยู่อาศัยได้ 5 พันหน่วย
นายพิชัยกล่าวว่า สำหรับ อัตราดอกเบี้ย อยู่ที่เพียง 1.59% ต่อปี คงที่เป็นระยะเวลา 5 ปี และในปีที่ 6-8 อัตราดอกเบี้ย MRR (Minimum Retail Rate) – 2% ต่อปี และตั้งแต่ปีที่ 9 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย MRR – 0.5% ต่อปี โดยกรณีกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระเงินงวดเพียง 3,400 บาท
“สำหรับการขยายให้กลุ่ม ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 ด้วยนั้น เพื่อเพิ่มความหลากหลายของกลุ่มเป้าหมาย และคิดว่าวงเงิน 2 ล้านบาทต่อรายนั้น ก็ถือว่าไม่ได้มากนัก เป็นการช่วยตนที่มีรายได้น้อย มีบ้าน” นายพิชัยกล่าว
นายพิชัยกล่าวว่า ทั้งนี้ทางกระทรวงการคลังและกระทรวงแรงงานก็จะร่วมกันติดตามผลดำเนินงานของโครงการ ซึ่งหากได้รับผลตอบรับดี ก็จะมีการพิจารณาขยายโครงการต่อเนื่องแน่นอน รวมทั้งอยากจะเชิญชวนธนาคารพาณิชย์มาร่วมโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้วย
นายพิชัยกล่าวอีกว่า ขณะนี้เศรษฐกิจก็มีแนวโน้มที่กระเตื้องขึ้น ก็หวังว่าจะทำให้รายได้ของประชาชนดีขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ค่อยๆ กระเตื้องขึ้น อย่างไรก็ดี มาตรการด้านธุรกิจอสังหาฯมีสองส่วน คือ สินเชื่อเดิม ที่อาจจะไม่สามารถผ่อนได้ไหว ทาง ธอส.ก็มีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ อาทิ การลดดอกเบี้ย ขอยืดระยะเวลาการผ่อนชำระ ซึ่งล่าสุด มีผู้ร่วมโรงการปรับโครงสร้างหนี้แล้วราว 1 แสนราย และในส่วนนี้ มีหมื่นกว่ารายที่อยู่ในสถานะหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล ซึ่งหากมีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว และทำตามเงื่อนจ่ายได้ตรงกำหนดทางธนาคารก็จะส่งรายชื่อ ให้ถอดออกจากแบล๊กลิสต์เครดิตบูโร
นายพิชัยกล่าวว่า ส่วนอีกด้านของมาตรการอสังหาฯคือ การหาดีมานด์เพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลกำลังอยู่ ซึ่งปัจจุบันมีแค่ดีมานด์ในเมืองไทย ดังนั้นก็จะมีการศึกษาหาดีมานด์ส่วนอื่น ส่วนดีมานด์จากต่างประเทศเป็นเรื่องที่ควรจะศึกษา เพราะหลายประเทศก็ทำกัน ในเบื้องต้นก็คิดในกรณีการเช่าที่ราชพัสดุ โดยหลักเกณฑ์สำคัญคือ ที่ดินที่ปล่อยเช่าไปสุดท้ายต้องกลับมาเป็นของรัฐทั้งหมด ก็คือยังเป็นของประชาชนทุกคนด้วย
“ที่ราชพัสดุนั้น จริงๆ มีอยู่จำนวนมาก ก็ต้องมาพิจารณาดูว่าส่วนไหนจะเหมาะสม แต่ถ้าจากความต้องการคือ ใครๆ ก็อยากได้บ้านใกล้ที่ทำงาน ดังนั้น โซนที่ดินที่อาจจะถูกปล่อยเช่าก็ควรจะอยู่ใกล้เมือง หรือหัวเมืองเป็นหลัก” นายพิชัยกล่าว
นายพิชัยกล่าวว่า ขณะที่กรณีสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือนั้น รัฐบาลก็มีมาตรการออกมาหลายมาตรการแล้ว เริ่มจากการไปช่วยเหลือ และตามด้วยการเยียวยา โดยในส่วนของการเยียวยา จะมีการกำหนดอีกครั้งว่ารัฐบาลจะมีการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยอย่างไร ในส่วนของภาคสถานบันการเงินของรัฐ ก็ได้เตรียมพร้อมมาตรการเยียวยา ช่วยเหลือไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งนอกจากจะช่วยเหลือเรื่องของที่อยู่อาศัยแล้ว ก็ยังมีผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก ที่อาจจะต้องการเงินทุน ทางกระทรวงการคลัง ก็กำลัง หาแหล่งเงินทุนที่ดอกเบี้ยถูก และให้ระยะเวลาชำระนาน เพื่อเข้าไปช่วยเติมสภาพคล่องผู้ประกอบการที่เดือดร้อน
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 26 กันยายน 2567