หนี้ทั่วโลกพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 312 ล้านล้านเหรียญ 328% ของจีดีพี
ยอดหนี้ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกปี 2024 ส่งยอดรวมพุ่งสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 312 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ "อัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพี" คงที่ราว 328% เป็นผลจากตัวเลขเงินเฟ้อในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ทำให้มูลค่าจีดีพีสูงขึ้น
รอยเตอร์ส (Reuters) รายงานเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2024 ว่า สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (Institute of International Finance : IIF) เผยหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมหนี้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคครัวเรือน เอกชน และรัฐบาล พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 312 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นไตรมาส 2 ของปี 2024 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการกู้ยืมในสหรัฐและจีนที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) ก็มีขนาดหนี้พุ่งแตะจุดสูงสุดใหม่เช่นกัน
จากรายงานโกลบอล เดบต์ มอนิเตอร์ (Global Debt Monitor) ที่เผยแพร่ในวันที่ 25 กันยายน หนี้ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 68 ล้านล้านบาท) ในครึ่งแรกของปี 2024 แต่ยังน้อยกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ที่เพิ่มขึ้น 8.4 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 273 ล้านล้านบาท)
นอกจากจีนกับสหรัฐแล้ว อินเดีย รัสเซีย และสวีเดนต่างก็ก่อหนี้เพิ่มเช่นกัน ขณะที่ประเทศยุโรปอื่น ๆ และญี่ปุ่น มีหนี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนอัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการชำระหนี้เมื่อเทียบกับมูลค่าผลผลิตภายในประเทศ คงที่อยู่ราว 327%-328% ด้วยตัวเลขผลผลิตในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีราคาสูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าเป้าหมาย ทำให้มูลค่ารวมของจีดีพีสูงขึ้น
ในประเทศกำลังพัฒนา อัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2018 เนื่องจากการกู้ยืมที่ลดลงในภาคครัวเรือนและในภาคธุรกิจที่ไม่ใช่การเงิน (Nonfinancial Corporations Sector)
ในทางกลับกัน ประเทศตลาดเกิดใหม่มีอัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีทะลุสถิติสูงสุดใหม่อยู่ที่เกิน 245% ของจีดีพี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากอัตราส่วน 225% ในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19
รายงานระบุว่า ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยรอบนี้ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด (Fed) คาดว่าจะเป็นตัวเร่งอัตราการก่อหนี้ทั่วโลก ข้อกังวลสำคัญคือการขาดเจตจำนงทางการเมือง (political will) ที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศตลาดเกิดใหม่
นอกจากนั้น IIF ส่งสัญญาณเตือนต่อการกู้ยืมของภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าการกู้ยืมของภาครัฐจะเพิ่มขึ้นจาก 92 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,990 ล้านล้านบาท) ในปัจจุบัน สู่ 145 ล้านล้านดอลลาร์ 4,710 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2030 และสูงสุดที่ 440 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2050
การกู้ยืมก้อนใหญ่ถูกขับเคลื่อนจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดว่าการกู้ยืมเพื่อวัตถุประสงค์นี้จะมีสัดส่วนคิดเป็นมากกว่า 1 ใน 3 ของตัวเลขการกู้ยืมทั้งหมดที่ประมาณการว่าจะเพิ่มขึ้นภายในปี 2050
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 26 กันยายน 2567