"เศรษฐกิจอาเซียน" กับความเสี่ยงภัยพิบัติธรรมชาติ | ASEAN Insight
การยกระดับความสามารถในการรองรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ประเทศสมาชิกอาเซียนจำเป็นต้องพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทานที่สามารถดูดซับ ปรับตัวและฟื้นตัวจากภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันอาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามภัยพิบัติทางธรรมชาติมีบทบาทสำคัญในการชะลอการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ ด้วยเหตุนี้ความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติและการพัฒนาสาธารณูปโภคที่สามารถทนทานต่อวิกฤตการณ์ต่าง ๆ จึงเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างยั่งยืน
ภูมิภาคอาเซียนได้ประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุทกภัย พายุไต้ฝุ่น และภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทานของประเทศสมาชิก ข้อมูลจากรายงานของอาเซียนคาดการณ์ว่ากว่า 50% ของประชากรอาเซียนหรือมากกว่า 300 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อพายุไซโคลน
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น อุทกภัย ส่งผลกระทบต่อประชากรในอาเซียน 13% และส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจรวมถึงสินทรัพย์ทางกายภาพมากกว่า 926 พันล้านดอลลาร์ การบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติเหล่านี้จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่น และสามารถตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การยกระดับความสามารถในการรองรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ประเทศสมาชิกอาเซียนจำเป็นต้องพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทานที่สามารถดูดซับ ปรับตัวและฟื้นตัวจากภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว การมีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย เช่น ระบบไฟฟ้าที่เชื่อมโยงกับระบบน้ำสะอาด การสื่อสารโทรคมนาคม และระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติที่มีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้
ประเทศสมาชิกบางประเทศ เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ได้พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและระบบการเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ส่วนประเทศอื่นยังขาดทรัพยากรในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
อาเซียนมีความตกลงและกรอบการทำงานหลายฉบับที่มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการบริหารจัดการความเสี่ยง เช่น ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน แผนงานอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาภูมิคุ้มกันต่อภัยพิบัติ
เพื่อให้ประเทศสมาชิกเตรียมความพร้อมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรองรับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาเซียนควรดำเนินนโยบายและมาตรการดังนี้
1)การพัฒนาระบบข้อมูลการบริหารความเสี่ยง โดยสร้างกรอบการทำงานที่เน้นการใช้ข้อมูลและการตัดสินใจที่แม่นยำในการจัดการโครงสร้างพื้นฐานในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มความสามารถในการตัดสินใจของผู้บริหารที่รับผิดชอบต่อโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
2)การมีแผนที่เพื่อการประเมินความเสี่ยง ประเทศสมาชิกอาเซียนควรพัฒนาเครื่องมือแผนที่ซึ่งสามารถแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสภาพความเสียหายและความยืดหยุ่นของโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อช่วยในการตัดสินใจและวางแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาว
3)การเสริมสร้างทักษะและการแบ่งปันข้อมูล ประเทศสมาชิกอาเซียนควรเน้นการพัฒนาศักยภาพในการบริหารจัดการทรัพยากร รวมถึงการสร้างเครือข่ายการแบ่งปันข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
สำหรับประเทศไทย การมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ได้อย่างรวดเร็วร่วมกับอาเซียนจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาค นอกจากนี้การแบ่งปันความรู้และเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำและพลังงานจากประเทศในอาเซียน เช่น การใช้พลังงานทดแทนและระบบการจัดการน้ำที่ทันสมัย ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในตลาดโลกและสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
การพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียนจำเป็นต้องพิจารณาความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถตอบสนองและฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ได้อย่างรวดเร็วไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของภูมิภาค แต่ยังเป็นการสร้างความยืดหยุ่นให้กับระบบเศรษฐกิจของอาเซียนในระยะยาวอย่างยั่งยืน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 2 ตุลาคม 2567