4 ชาติอาเซียนรวมถึง "ไทย" อ่วม สหรัฐขึ้นภาษีโซลาร์เซลล์สูงสุด 300%
สหรัฐขึ้นภาษีโซลาร์เซลล์ 4 ประเทศในอาเซียน สูงสุดเกือบ 300% ตอบโต้การอุดหนุนทำสินค้าราคาถูกทะลักสหรัฐ "ไทย" เจออัตราเฉลี่ยสูงสุดในสี่ประเทศที่ 23.06%
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ประกาศการจัดเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุน (CVD) กับ “แผงโซลาร์เซลล์” จาก 4 ประเทศในอาเซียน คือ เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และไทย แต่ถือเป็นอัตราภาษีที่ต่ำกว่าที่เคยมีการคาดการณ์ไว้สำหรับผู้ผลิตรายใหญ่หลายรายของจีน เพื่อหวังสกัดการทุ่มตลาด
จากเอกสารที่เผยแพร่บนเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า ทางหน่วยงานได้คำนวณอัตราภาษีเบื้องต้นที่ 2.85% สำหรับการนำเข้าจากเวียดนาม, 8.25% สำหรับการนำเข้าจากกัมพูชา, 9.13% สำหรับการนำเข้าจากมาเลเซีย และ 23.06% สำหรับการนำเข้าจากไทย
ฟิลิป ฌอน นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของบริษัท Roth Capital Partners กล่าวว่า โดยรวมแล้วอัตราดังกล่าวนับว่าต่ำกว่าที่คาดไว้ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 15%
นอกจากอัตราเฉลี่ยดังกล่าวสำหรับแต่ละประเทศแล้ว สหรัฐยังกำหนดภาษีเฉพาะเป็นรายบริษัทสำหรับบริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่บางแห่งด้วย โดยสำหรับ "ประเทศไทย" มี 3 บริษัทคือ Trina Solar ในอัตรา 0.14% และ Taihua New Energy กับ Sunshine Electrical Energy ในอัตรา 34.52%
ส่วนบริษัทที่เจออัตราภาษีสูงสุด 292.61% คือบริษัทในประเทศ "เวียดนาม" 4 แห่ง ประกอบด้วย GEP New Energy, HT Solar, Shengtian New Energy Vina และ Vietnam Green Energy Commercial Services Co.
สำหรับภาษีในอัตราสูงสุดรองลงมา 123.94% คือบริษัท 3 แห่งในประเทศ "มาเลเซีย" ประกอบด้วยบริษัท Baojia New Energy, Pax Union และ SunMax Energy
เป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัท Hanwha Qcells จากเกาหลีใต้ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ฟ้อง และมีโรงงานผลิตขนาดใหญ่ในรัฐจอร์เจีย สหรัฐ ก็เจอการตั้งภาษีในอัตราถึง 14.72% ในมาเลเซีย และสูงกว่าบริษัทจีนหลายแห่งในอาเซียนที่ถูกตั้งภาษีในครั้งนี้
ทั้งนี้ การประกาศดังกล่าวเป็นการตัดสินใจเบื้องต้นครั้งแรกของสองครั้งที่กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะมีขึ้นในปีนี้ ในคดีการค้าที่ฟ้องร้องโดยบริษัทฮันวา คิวเซลล์ (Hanwha Qcells) จากเกาหลีใต้ บริษัทเฟิร์สต์ โซลาร์ (First Solar) จากรัฐแอริโซนา และบริษัทขนาดเล็กอีกหลายแห่งที่ต้องการปกป้องการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในธุรกิจผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในสหรัฐ
กลุ่มผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐที่ชื่อว่า American Alliance for Solar Manufacturing Trade Committee (AASMTC) ได้กล่าวหา "บริษัทสัญชาติจีน" ที่มีโรงงานอยู่ใน 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ได้ทุ่มตลาดสหรัฐด้วยแผงโซลาร์ที่มีราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิตและยังได้รับเงินอุดหนุนอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งทำให้สินค้าของสหรัฐไม่สามารถแข่งขันได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของสหรัฐที่มองว่า การนำเข้าแผงโซลาร์ราคาถูกนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งผู้พัฒนาโครงการพลังงานสะอาดที่แข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิล และต่อโรงงานผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศที่ใช้ "เซลล์" ที่ผลิตในต่างประเทศใน "แผงโซลาร์เซลล์" ที่ประกอบในประเทศสหรัฐ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 3 ตุลาคม 2567