เอสเอ็มอีเหนือ ชงรัฐตั้งกองทุนเยียวยา 5 หมื่นล้าน หอค้าเหนือยื่นปกขาวจี้รัฐแก้ระบบน้ำ
เอสเอ็มอีเหนือ ชงรัฐตั้งกองทุนเยียวยา 5 หมื่นล้าน หอค้าเหนือยื่นปกขาวจี้รัฐเร่งแก้ระบบน้ำ เผยอุทักภัยเสียหายแล้วเกือบ 6 หมื่นล้าน
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม นายบุญชู กมุทมาโนช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ภาคเหนือ เปิดเผยว่า เอสเอ็มอีภาคเหนือ ได้รวบรวมปัญหาและข้อเรียกร้องจากผู้ประกอบการที่ประสบภัยน้ำท่วมและดำเนินธุรกิจในพื้นที่น้ำท่วม ผ่านสมาพันธ์เอสเอ็มอีส่วนกลาง เพื่อให้ประสานกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเอสเอ็มอีในภาคเหนือกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก ไม่แค่ช่วงน้ำท่วมแต่หลังจากน้ำท่วมยังต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูทุกมิติ อย่างน้อยต้องใช้เวลา 1-2 เดือน
ทั้งนี้ ข้อเสนอหลัก ได้แก่ 1. เร่งตั้งศูนย์วันสต๊อปเซอร์วิส เพื่อบูรณาการการทำงานทุกฝ่าย และในระยะสั้น อยากให้รัฐบาลและหน่วยงานเร่งช่วยการขนย้ายและซ่อมแซม ดูแลด้านสุขอนามัย และฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยและครอบครัวที่สูญเสีย เร่งเก็บข้อมูลเพื่อช่วยเหลือ และประสานธนาคารช่วยเหลือ ชะลอจ่ายเงินต้นและลดดอกเบี้ยในระยะ 6-12 เดือน
2.ตั้งกองทุนเยียวยาเอสเอ็มอี ไม่แค่ให้เงินช่วยเหลือจากธุรกิจหรือบ้านจมน้ำ แต่มองถึงหลังน้ำลด ธุรกิจและรายย่อยต้องฟื้นการทำธุรกิจ ที่ต้องใช้เงินทุนเพิ่มเติม หากยื่นกู้ในภาวะปกติยังต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องจัดเตรียมเอกสารจำนวนมาก หากตั้งกองทุนฯเพื่อให้เอสเอ็มอีได้ยื่นขอกู้เงินดอกเบี้ยต่ำ ไม่เกิน 3% ต่อปี จะคล่องตัวและฟื้นตัวได้เร็ว เบื้องต้นวงเงินกองทุนฯควรไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท ประเมินจากความเสียหายเบื้องต้นจากธุรกิจจมน้ำและขาดรายได้ และการฟื้นฟูกว่าจะเปิดได้ตามปกติ ต้องใช้เวลา 2-3 เดือน
ด้านนายสมบัติ ชินสุขเสริม รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานหอการค้าภาคเหนือ กล่าวว่า หอการค้าภาคเหนือได้ทำข้อสรุปและแนวทางที่จะนำเสนอรัฐบาลและบรรจุในสมุดปกขาวที่หอการค้าไทยจะเสนอรัฐบาล ประเด็นหลักคือ 1. เพิ่มความร่วมมือภาครัฐและเอกชน และมี กกร.จังหวัด เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้การทำงานสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน 2.ทำแผนฟื้นฟูระยะสั้น กลาง และยาว ในระยะสั้นเน้นลดต้นทุนและสร้างรายได้ อาทิ ลดค่าเช่าพื้นที่ให้ธุรกิจ ยืดการชำระหนี้ หาสินเชื่อฟื้นฟูดอกเบี้ยต่ำ ออกมาตรการพักหนี้พักดอกเบี้ย อย่างต่ำ 1 ปี หาพื้นที่ทดแทนที่เสียหายจากน้ำท่วม เป็นต้น 3. จัดระเบียบชลประทาน โดยเฉพาะการจัดหาแอ่งเก็บน้ำและบริการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยใช้ข้อมูลที่กำลังเกิดขึ้น ไปวางแผนระบบให้ยั่งยืน ไม่เกิดการแล้งหรือท่วมซ้ำซ้อน
“มีโอกาสที่น้ำจะท่วมอีก เพราะโลกร้อน น้ำแข็งโลกละลาย จึงถึงเวลาต้องมาดูว่าจะป้องกันอย่างไร บางจังหวัดในเหนือไม่มีแอ่งเก็บน้ำปริมาณมาก เมื่อแล้งก็เสียหาย ท่วมก็เสียหาย ยังมีปัญหาฝุ่นและฟื้นตัวเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวอีก ซึ่ง อุทกภัยครั้งนี้ตั้งแต่ 22 กันยายน น่าจะเสียหายแล้ว 4 หมื่นล้าน รวมกับเชียงใหม่อีก 1 หมื่น ตอนนี้น่าจะเหลือหายเกิน 5-6 หมื่นล้านบาทแล้ว หลังน้ำท่วมก็ยังต้องเจอการฟื้นฟูอีกหลายมิติ” นายสมบัติ กล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 7 ตุลาคม 2567