ท่องเที่ยวฟื้น! ดึงเงินทุนต่างชาติทะลัก ซื้อสะสมกว่า 1.7 แสนลบ.
เมื่อวันที่ 7 กันยายน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ประจำเดือนสิงหาคม 2565 พบว่า ดัชนีในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 116.59 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.2% จากเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว นักลงทุนมองว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด ที่คาดว่าทั้งปี 2565 มีโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะเข้ามามากกว่า 10 ล้านคน เฉพาะวันที่ 1-17 สิงหาคม เข้ามาแล้ว 629,906 คน แล้ว รองลงมาคือ การไหลเข้าของเงินทุน และนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่วนปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ โควิด-19 นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และการไหลออกของเงินทุน
“จากภาพเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2/2565 ที่ฟื้นตัวได้ดี บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย มีจุดเด่น ทั้งกำไรที่เติบโตมากในครึ่งปีแรกและงบดุลแข็งแรง ทำให้แนวโน้มฟันด์โฟลว์ยังไหลเข้าลงทุนในอาเซียนรวมถึงไทย เพราะนักลงทุนทั่วโลกมองว่า อาเซียนเป็นหนึ่งแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย (เซฟ เฮฟเว่น) รวมถึงไทยด้วย” นายกอบศักดิ์ กล่าว
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามตลาดโลกจากการที่นักลงทุนคาดว่าเฟด จะดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง รวมถึงการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว แม้ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ดัชนีจะปรับตัวลงเล็กน้อย หลังเฟดส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับสถาณการณ์เงินเฟ้อ
รวมถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญไทยสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตลอดทั้งเดือนสิงหาคม 2565 ดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ระหว่าง 1,589.16-1,644.78 ก่อนที่สิ้นเดือนจะปิดที่1,638.93 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4% จากเดือนก่อนหน้า
ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิในเดือนสิงหาคม 2565 กว่า 57,014 ล้านบาท รวมนักลงทุนต่างซาติซื้อสุทธิตลอดปี 2565 เป็นมูลค่า 170,743.71 ล้านบาท
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากในหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน รวมถึงนโยบายซีโร่โควิดของจีน ที่ยังคงมีการประกาศล็อกดาวน์เป็นระยะๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูงซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางในหลายประเทศ โดยเฉพาะเฟด และปัญหาค่าเงินอ่อนลงอย่างมากในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การเฝ้าระวังโควิดในประเทศ ซึ่งมีเพิ่มขึ้นหลังเปิดให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะส่งผลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคท่องเที่ยว รวมถึงแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่ยังสูงจากการที่ราคาอาหาร และพลังงานยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 6 กันยายน 2565