ไทยรับมอบ Accession Roadmap ก้าวสำคัญสู่การเป็นสมาชิก OECD
ประเทศไทยยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงในการเข้าเป็นสมาชิก "องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา" (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2024 นับเป็นก้าวแรก ๆ ที่สำคัญอย่างยิ่งบนเส้นทางสู่การเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศชั้นนำของโลกองค์กรนี้
จากนั้น เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2024 คณะมนตรี OECD (OECD Council) ซึ่งประกอบด้วย 38 ประเทศสมาชิก มีมติเอกฉันท์เห็นชอบเปิดการหารือกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Discussion) กับประเทศไทย
แต่ละก้าวล้วนสำคัญสำหรับประเทศไทยในการที่จะได้เข้าไปเป็นสมาชิก OECD ซึ่งหมายถึงการเข้าไปสู่คอมมิวนิตี้ของประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อที่จะพัฒนายกระดับประเทศไทยให้ขึ้นไปเป็นผู้เล่นในลีกสูงสุดของโลก
เลขาธิการ OECD เยือนไทย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2024 นายมาทีอัส คอร์มันน์ (Mathias Cormann) เลขาธิการ OECD ได้มอบแผนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Roadmap) ซึ่งเป็นรายละเอียดขั้นตอนในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ที่เป็นรูปธรรมสำหรับประเทศไทย ให้กับ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ในกิจกรรมการเปิดตัวกระบวนการหารือเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย ที่กระทรวงการต่างประเทศ
นอกจากนั้น ในการเยือนประเทศไทย 3 วัน ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม เลขาธิการ OECD ได้พบหารือกับ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และภาคส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญของไทย เช่น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)
ในโอกาสนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณ เลขาธิการ OECD สำหรับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ในกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย โดยยืนยันว่าไทยมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะเข้าเป็นสมาชิก OECD รวมทั้งย้ำความพร้อมของไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD เพื่อเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์และหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดของ OECD อีกทั้งจะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคผ่านเวทีระหว่างประเทศ เช่น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) และสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)สภา
รับมอบ Accession Roadmap ก้าวสำคัญสู่ OECD
กระบวนการมอบแผนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Roadmap) นี้ นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญที่สุดของกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งมี 2 กระบวนการหลัก ประกอบด้วย 10 ขั้นตอนย่อย โดยแบ่งเป็น (1) กระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิก ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน และ (2) กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน
สถานะปัจจุบันของไทยนับว่ากำลังจะก้าวขาจากขั้นที่ 4 คือ การที่ OECD ทำแผนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Roadmap) มอบให้ประเทศผู้สมัคร ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการที่ 1 ไปสู่ขั้นตอนที่ 5 หรือขั้นตอนแรกของกระบวนการที่ 2 คือ การยื่นข้อตกลงเบื้องต้น (Initial Memorandum) ซึ่งเป็นข้อมูลประเมินความสอดคล้องในเบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติของประเทศผู้สมัครกับมาตรฐานของ OECD
กระทรวงการต่างประเทศระบุว่า การเยือนไทยของเลขาธิการ OECD ครั้งนี้ เป็นส่วนสำคัญต่อกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย เนื่องจากสะท้อนให้เห็นการยอมรับจาก OECD และเป็นการปูทางสู่การทำงานร่วมกันระหว่างไทยกับ OECD
OECD รอคอยไทยเป็นสมาชิก
นายมาทีอัส คอร์มันน์ เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานเปิดตัวกระบวนการเพื่อการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ของประเทศไทยว่า การเริ่มต้นของกระบวนการการเข้าเป็นสมาชิกของประเทศไทย คือจุดหมายถัดไปของความร่วมมือระหว่าง OECD กับประเทศไทยที่มีมาอย่างยาวนาน
ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงศักยภาพทางเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน ระดับรายได้ต่อหัวประชากรของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก และการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของไทยผ่าน Foreign Business Act (1999) หรือ “พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542” ทำให้ไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
“การดำเนินการเพื่อเข้ามาเป็นสมาชิก OECD จะส่งผลกระทบ
และสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อแนวทางการปฏิรูปประเทศ การตรวจสอบทางเทคนิคอย่างเข้มข้น และการประเมินเชิงลึกโดยคณะกรรมการของ OECD จะสนับสนุนวาระการปฏิรูปอันทะเยอทะยานของประเทศไทย เพื่อไปสู่เป้าหมายการเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2037 ซึ่งจะส่งผลดีต่อคนไทยในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่การสร้างโอกาสในการพัฒนาทักษะ ไปจนถึงการเพิ่มความน่าดึงดูดใจในการลงทุน”
“ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยสามารถส่งเสริมการหารือเชิงนโยบายของ OECD ด้วยมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์บนพื้นฐานของความรู้ความชำนาญจากประสบการณ์ ความท้าทาย และความสำเร็จของประเทศไทยเอง ซึ่งจะช่วยให้โออีซีดีแข็งแกร่งขึ้น ครอบคลุมและเป็นสากลขึ้น” เลขาธิการ OECD กล่าว
ทำไมไทยอยากเป็นสมาชิก OECD
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในกิจกรรมการเปิดตัวกระบวนการหารือเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย และรับมอบแผนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Roadmap) จากเลขาธิการ OECD ว่า ประเทศไทยทำงานร่วมกับ OECD มาแล้ว 43 ปี และไทยพิจารณาเข้าร่วม OECD ครั้งแรกเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว
ไทยเป็นประเทศเดียวในอินโด-แปซิฟิกที่มีโครงการความร่วมมือระดับประเทศกับ OECD ในรูปแบบแผนงานระดับประเทศ (Country Programme) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งแผนงานระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ OECD ด้วย ไทยได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ OECD ทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค ดังนั้น การเข้าร่วม OECD ของประเทศไทยถือเป็นก้าวต่อไปของความร่วมมือนี้
“ประเทศไทยต้องการเข้าร่วม OECD เนื่องจากเรามองเห็นโอกาสร่วมกันที่เกิดขึ้นจากการเกื้อกูลซึ่งกันและกันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศไทยและ OECD เราต้องการยกระดับระบบนิเวศของเราในหลาย ๆ ด้าน เราต้องการทำให้ธุรกิจของเรามีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ต้องการทำให้ภาครัฐของเรามีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากขึ้น ต้องการให้เศรษฐกิจของเรามีความยืดหยุ่นและยั่งยืนมากขึ้น และต้องการให้การเติบโตของเรามีความครอบคลุมมากขึ้น กล่าวอย่างง่าย ๆ คือ ประเทศไทยพร้อมที่จะดำเนินการเพื่อให้เหมาะสมกับอนาคต”
รมว.กต.กล่าวอีกว่า ในขณะเดียวกัน สมาชิก OECD ก็ต้องการพันธมิตรที่เชื่อถือได้ การเข้าเป็นสมาชิกของประเทศไทยจะเป็นการขยายกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดเหมือนกัน ซึ่งมีค่านิยมทางการเมืองและเศรษฐกิจร่วมกัน และพร้อมที่จะยกระดับความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ไปสู่ระดับที่สูงขึ้น
“เราต้องการเพิ่มบทบาทของเราในการกำหนดนโยบายระดับโลก เรามุ่งมั่นที่จะมีส่วนสนับสนุนสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความก้าวหน้าในภูมิภาคของเราและในภูมิภาคอื่น ๆ”
“ในเวลาเดียวกัน OECD กำลังเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นแพลตฟอร์มนโยบายระดับโลกที่ครอบคลุมมากขึ้น ประเทศไทยในฐานะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่สามารถมีส่วนสนับสนุนให้ OECD บรรลุเป้าหมายนี้ได้”
“เราต้องการใช้การทูตเศรษฐกิจเพื่อเสริมสร้างบทบาทของเราในฐานะผู้สร้างสะพานเชื่อมระหว่างหุ้นส่วนทั้งหมด” รมว.ต่างประเทศของไทยกล่าว โดยเชื่อมโยงว่า บทบาทเชิงรุกของไทยในกรอบความร่วมมือ APEC, กรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD), ASEAN, ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) และกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นเครื่องพิสูจน์สิ่งนี้
นอกจากนั้น นายมาริษกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ผลประโยชน์ที่ไทยและ OECD จะได้รับ คือ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คำนวณว่า การที่ไทยเข้าเป็นสมาชิก OECD จะทำให้จีดีพีของไทยเติบโตถึง 1.6% เพราะสามารถเพิ่มการแข่งขันของภาคธุรกิจ ก้าวข้ามกับดักการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง และยกระดับชีวิตของประชาชน เพราะไทยต้องปฏิรูปทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยอาศัยมาตรฐานตัวชี้วัดการปฏิรูปประเทศนี้
ทั้งนี้ การเข้าเป็นสมาชิก OECD ต้องมีการรับรองตราสารกฎหมายบางประการ ทำให้ประเทศไทยมีความชัดเจน โปร่งใส และมีมาตรฐานมากขึ้น ยกระดับคุณภาพทั้งหมดและกฎระเบียบให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
“OECD เห็นความสำคัญของไทย จึงต้องการให้ไทยเข้าเป็นสมาชิก OECD ในอดีต OECD มักถูกพูดถึงว่าเป็นกลุ่มของคนรวย (Rich Man Club) โดยประเทศพัฒนาแล้ว แต่พบว่าเมื่อเวลาผ่านไป ก็ต้องการขยายกรอบความร่วมมือให้ครอบคลุมถึงประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยและประเทศอื่น ประเทศไทยเองต้องการมีบทบาทขับเคลื่อนประเทศกำลังพัฒนาให้มีสิทธิมีเสียงกำหนดทิศทางของโลกและให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถกำหนดระเบียบโลกได้มากขึ้น”
การเข้า OECD จะพลิกโฉมไทยอย่างไร
สำหรับประโยชน์ที่ไทยจะได้จากการเข้าเป็นสมาชิก OECD นั้น ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในการเสวนา “การเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทยจะพลิกโฉมประเทศไทยได้อย่างไร” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการเปิดตัวกระบวนการหารือเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมว่า กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งไทยต้องปรับปรุงมาตรฐานหลายอย่างจะช่วยปรับปรุงและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีระดับโลก
“วิสัยทัศน์ของไทย คือ เราไม่ได้ต้องการเพียงแค่เป็นสมาชิก OECD แต่เราต้องการใช้โอกาสนี้ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน เราต้องการแข่งกับโลก เราอยากเพอร์ฟอร์มได้ดีกว่านี้ โดยการปรับปรุงมาตรฐานของเราให้เท่ากับมาตรฐานโลก”
ดร.วันฉัตรกล่าวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2018-2037) กำหนดเป้าหมายไว้ 4 ประการ คือ (1) มุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (2) ก้าวทันโลกาภิวัตน์ (3) ส่งเสริมให้คนไทยทุกคนสามารถบรรลุศักยภาพสูงสุด (4) สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ ไทยจำเป็นต้องปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงตัวเองหลายอย่าง
“ประเทศไทยมีมาสเตอร์แพลนซึ่งประกอบด้วยวิสัยทัศน์ 3 ด้าน คือ ความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรือง และความยั่งยืน ซึ่งการที่ไทยก้าวไปพร้อมกับการปรับปรุงมาตรฐานตาม OECD จะช่วยให้ไทยไปถึงเป้าหมายได้ภายในปี 2037 ตามที่ตั้งเป้าไว้ได้อย่างแน่นอน”
รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอธิบายถึงการเปลี่ยนโฉมในภาคต่าง ๆ จากการที่ไทยเข้าเป็นสมาชิก OECD ว่า ในภาครัฐ จะมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาล ลดการทุจริต ปรับปรุงการจัดเก็บภาษี และสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยนำแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับ OECD มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับไทย
สำหรับภาคเอกชน บริษัทของไทยจะมีมาตรฐานการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบที่สามารถแข่งขันกับมาตรฐานของต่างประเทศได้ และนักลงทุนไทยสามารถลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้ (Outward FDI)
สำหรับภาคประชาชน จะสามารถติดตามผลการดำเนินงานของรัฐบาลได้ ผ่านการเข้าถึงข้อมูลการประเมินผลประเทศไทยของ OECD ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนตรวจสอบรัฐได้มากขึ้น และคาดว่าการที่ประเทศไทยต้องปรับแนวทางให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากขึ้นจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้ประชาชนมีโอกาสที่ดีขึ้นในด้านการศึกษา ความเป็นอยู่ และรายได้
ที่มา ประชาขาติธุรกิจ
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2567