สศอ.แนะภาคผลิตไทยปรับ5ด้าน รับอานิสงส์เลือกตั้งสหรัฐ
ปี 2567 ภาคผลิตไทยเผชิญกับความยากลำบาก!!
เมื่อเร็วๆ นี้ โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ปรับประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือเอ็มพีไอ ปีนี้ เป็น -1.0-0.0% จากเดิม 0-1% และผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมเป็น -0.5-0.5% จากเดิม 0.5-1.5%
ล่าสุด ปลายเดือนตุลาคม สศอ.รายตัวเลขเอ็มพีไอ เดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ระดับ 92.44 หดตัว 3.51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 57.47%
ส่งผลให้ดัชนีเอ็มพีไอ ไตรมาส 3 (กรกฎาคม–กันยายน) ปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 94.74 หดตัวเฉลี่ย 1.23% และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 58.29% หดตัวเฉลี่ย 0.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
และส่งผลให้ดัชนี เอ็มพีไอ 9 เดือน ปี 2567 อยู่ที่ระดับ 96.81 หดตัว 1.75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สศอ.ให้ข้อมูลว่า เอ็มพีไอที่ลดมีสาเหตุมาจากการผลิตยานยนต์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ทั้งตลาดภายในประเทศและการส่งออก
โดยเฉพาะตลาดรถยนต์ในประเทศมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือนสูง และสถานการณ์หนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ยังอยู่ในระดับที่สูง ทำให้สถาบันการเงินยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและยอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ในระดับสูง
ขณะเดียวกันต้นทุนพลังงานอยู่ในระดับสูง และปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาถูกกว่าสินค้าของไทย โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์กระทบผู้ประกอบการไทย ซึ่งสินค้านำเข้าที่ทะลักเข้ามามาก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้า เป็นต้น
ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัว 2.86% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาส 3 ปี 2567 ขยายตัว 7.05%
อย่างไรก็ตาม สศอ.ได้ประเมินสถานการณ์อุตสาหกรรม ต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะเกิดขึ้นในไม่กี่วันข้างหน้า
ประเมินนโยบาย นายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน พบว่า นโยบายแบบ “American First” มาตรการกีดกันทางการค้ากับจีนอย่างเข้มข้น มุ่งเน้นการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ, ลดภาษีรายได้บุคคลกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง–สูง รวมถึงเพิ่มสิทธิในการลดหย่อนภาษีบางส่วน, เพิ่มความเข้มงวดในการส่งตัวผู้อพยพกลับประเทศ และยกเลิกการให้สัญชาติแก่เด็กที่เกิดในสหรัฐ ที่ไม่มีเอกสารตามกฎหมาย
สนับสนุนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และยกเลิกเครดิตภาษีคาร์บอน, มุ่งเน้นการลดงบประมาณที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในโครงการสวัสดิการด้านสาธารณสุข, ลดกฎระเบียบเพื่อเร่งโครงการก่อสร้างและเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เช่น การก่อสร้างท่อส่งน้ำมัน
และประเมินนโยบาย นางคามาลา แฮร์ริส พรรคเดโมแครต พบว่า ดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้ากับจีนอย่างต่อเนื่อง เน้นการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์, ขึ้นภาษีรายได้บุคคลกลุ่มผู้มีรายได้สูงและลดภาษีสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย–ปานกลาง, ช่วยเหลือและพัฒนาชุมชนในภูมิภาคอเมริกากลาง เพื่อลดปริมาณแรงงานอพยพข้ามชายแดนเข้ามาทำงานในสหรัฐ
สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสีเขียว และลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล, เพิ่มงบประมาณสนับสนุนด้านสาธารณสุข สร้างโอกาสให้เกิดความเท่าเทียมทางสังคม เช่น ลดค่ายารักษาโรค และค่ารักษาพยาบาล, ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เพื่อสร้างความยั่งยืนและสร้างงานในระยะยาว
พร้อมประเมินว่า กรณี นายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ชนะการเลือกตั้ง อานิสงส์ต่อไทยคือการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดสหรัฐจะดีขึ้น อาจมีการย้ายฐานจากจีนมายังไทยเพิ่มขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้า และภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิลจะปรับตัวดีขึ้น อาทิ ยานยนต์สันดาป ปิโตรเคมี
ผลกระทบ คือ ไทยอาจเผชิญการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นสูงถึง 10-20%, บริษัทอเมริกาอาจถอนการลงทุนกลับสหรัฐ, นโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ อาจทำให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้น, การลงทุนด้านพลังงานสะอาดอาจชะลอตัวลง
ส่วนกรณี นางคามาลา แฮร์ริส พรรคเดโมแครต ชนะการเลือกตั้ง อานิสงส์ต่อไทยคือการสนับสนุนการค้าเสรี ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการค้าและการลงทุน, สนับสนุนการลงทุนเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด, มาตรการควบคุมราคาสินค้า จะช่วยสร้างเสถียรภาพทางด้านราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งมีผลดีต่อเงินเฟ้อของไทย
ดังนั้น สศอ.จึงมีข้อเสนอแนะแก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยเพื่อให้สามารถปรับตัวและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม ได้แก่
1.ปรับตัวสู่เทคโนโลยีพลังงานสะอาด และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน
2.พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยตรวจสอบและปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการใช้พลังงาน หรือการสูญเสียพลังงานในแต่ละขั้นตอนเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
3.นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล
4.ผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก โดยต้องมีความเข้าใจความต้องการและสามารถจัดการกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
5.พัฒนาแรงงานโดยสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กร (Reskill) พัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้น (Upskill) เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ นำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน (Newskill) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะของแรงงานให้ตรงตามความต้องการของตลาดโลกเมื่อเอ็มพีไอและจีดีพีอุตสาหกรรม เผชิญกับปัจจัยรุมเร้าในประเทศ การปรับตัวเพื่อช่วงชิงโอกาสจากตลาดโลก โดยเฉพาะสหรัฐ
จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับ ผู้ประกอบการไทย!!
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2567