"โครงการคูณสอง" คืออะไร? หนึ่งใน "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ" ของรัฐบาล
ทำความรู้จัก "โครงการคูณสอง" คืออะไร จะเริ่มเมื่อไร นี่คือ "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ" ที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ยื่นเสนอต่อรัฐบาล
"โครงการคูณสอง คืออะไร?" หลังจาก "คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ได้เข้าพบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อ 28 ตุลาคม 2567 เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
พร้อมกับยื่น “สมุดปกขาว” ซึ่งรวบรวมข้อเสนอจากภาคธุรกิจหลากหลายสาขา โดยหนึ่งในนั้นปรากฏชื่อของ "โครงการคูณสอง" เป็น 1 ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เสนอต่อรัฐบาล
ซึ่งสมุดปกขาวทั้งหมดประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 2.การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การบริหารจัดการน้ำ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โครงการคูณสองคืออะไร และทำไมต้องมี?
"โครงการคูณสอง" เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายชัดเจน เน้นการเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจโดยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายของประชาชนในสัดส่วนที่เท่ากัน
ตัวอย่างเช่น หากประชาชนใช้จ่ายเงินจำนวน 5,000 บาท รัฐบาลจะสมทบเงินเพิ่มอีก 5,000 บาท ซึ่งการออกมาตรการในลักษณะนี้ไม่เพียงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังเป็นการกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบโดยไม่ต้องใช้งบประมาณภาครัฐในปริมาณมาก ถือเป็นการกระตุ้นที่มีประสิทธิภาพและช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
ทำไมต้องมีโครงการคูณสอง :
สุดปกขาวของกกร. ระบุว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ทั้งภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูง และความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก การดำเนินโครงการคูณสองจะช่วยดึงกำลังซื้อจากประชาชนกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่าย โดยเฉพาะผู้ที่ยังพอมีกำลังซื้อแต่ลังเลที่จะใช้จ่ายในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว
นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งผลให้เงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจในภาพรวมมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ประเด็นสำคัญที่ภาคเอกชนเสนอ :
“สมุดปกขาว” ที่ กกร. นำเสนอนั้น ประกอบด้วยข้อเสนอหลากหลายที่ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในทุกมิติ โดยมี 4 ด้านสำคัญที่เน้นให้รัฐบาลพิจารณา ได้แก่:
1)การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ:
เสนอให้รัฐบาลใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจกลุ่มเปราะบางเป็นอันดับแรก ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการแล้ว เช่น โครงการเงินช่วยเหลือ 10,000 บาท เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนกลุ่มรายได้น้อยอย่างเร่งด่วน
2)การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs):
SMEs เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือ เช่น การเข้าถึงแหล่งทุนและมาตรการลดภาระค่าใช้จ่าย เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
3)การบริหารจัดการน้ำ:
เป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและการดำรงชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์น้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ รัฐบาลควรมีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันความเสียหายในอนาคต
4)การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ:
ภาคเอกชนเสนอให้รัฐบาลดำเนินการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และการส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีเป้าหมาย :
ภาคเอกชนยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการแยกกลุ่มเป้าหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก:
* กลุ่มเปราะบาง: จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วน รัฐบาลจึงได้ดำเนินมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้ทันที
* กลุ่มที่มีกำลังซื้อพอสมควร: เสนอให้ดำเนินโครงการคูณสอง เพื่อเพิ่มกำลังซื้อและดึงเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ โดยรัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก
* กลุ่มรายได้สูง: เสนอมาตรการจูงใจทางภาษี เช่น Easy e-Receipt ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทำให้รัฐสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยไม่ต้องใช้เงินสด
* มาตรการเสริมอื่น ๆ
นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังเสนอให้มีการลดราคาสินค้าในแต่ละจังหวัดผ่านโครงการสินค้าธงฟ้า เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการดำเนินการมาตรการนี้อยู่แล้ว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในช่วงวิกฤต
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวหลังรับสมุดปกขาวของกกร.ว่า รัฐบาล รับข้อเสนอของภาคเอกชนปพิจารณา โดยการคิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะตั้งอยู่บนฐานของความเหมาะสมของช่วงเวลา และผลที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ โดยในปี 2567 นี้ประเมินว่า จีดีพีไทยน่าจะขยายตัวได้ 2.7-2.8%
บทสรุป :
ข้อเสนอจากภาคเอกชนใน “สมุดปกขาว” เป็นแนวทางที่ครอบคลุมทุกมิติของการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยการดำเนินโครงการคูณสองจะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อนำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567