สี จิ้นผิงชูท่าเรือชานคายถึงเซี่ยงไฮ้ จุดเชื่อมอเมริกาใต้-เอเชียแห่งใหม่
สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนกล่าวในโอกาสเปิดท่าเรือชานคายในเปรูว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินเรือทางทะเลระหว่างเอเชียและอเมริกาใต้แห่งใหม่ ในห้วงการประชุมระดับผู้นำเอเปคที่กรุงลิมา เพื่อขยายการค้าและอิทธิพลในภูมิภาคที่ถือเป็นหลังบ้านของสหรัฐ
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2024 รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนกล่าวว่า ท่าเรือชานคายเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินเรือทางทะเลและทางบกระหว่างจีนและละตินอเมริกาแห่งใหม่ ในระหว่างการหารือกับดิน่า โบลัวร์เต ประธานาธิบดีเปรู นอกรอบการประชุมกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปคที่เปรูเป็นเจ้าภาพ เมื่อ 14 พฤศจิกายน
ในโอกาสนี้ สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ผู้นำจีน ยังกล่าวถ้อยแถลงในโอกาสเปิดท่าเรืออย่างเป็นทางการผ่านทางออนไลน์ว่า จีนตั้งใจทำงานร่วมกับฝ่ายเปรูที่จะใช้ท่าเรือชานคาย (Chancay Port) เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินเรือ-ทางบกแห่งใหม่ระหว่างจีนและภูมิภาคละตินอเมริกา ยังรวมถึงเกรต อินคา เทรล ซึ่งคือเส้นทางเครือข่ายทางภูเขาในศตวรรตที่ 15 ของจักรวรรดิอินคา
ผู้นำจีนยังกล่าวด้วยว่า ท่าเรือชานคายแห่งนี้เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ ตามโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21
ทั้งนี้ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นโครงการการค้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นนโยบายต่างประเทศที่สำคัญยิ่งของสี จิ้นผิง
สื่อท้องถิ่นของเปรูระบุว่า ท่าเรือที่เชื่อมภูมิภาคละตินอเมริกาและเอเชียนี้ตั้งอยู่ในเมืองชานคาย ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงลิมา เมืองหลวงเปรูไปทางทิศเหนือราว 80 กิโลเมตร ช่วยร่นเวลาและต้นทุนในการขนส่งสินค้าจากละตินอเมริกาไปยังเอเชียได้เกือบครึ่ง โดยเฉพาะท่าเรือในจีนรวมถึงท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเอลเมอร์ เชียเลร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเปรูระบุว่า ท่าเรือชานคายนั้นออกเสียงคล้ายกับช่างไห่ (เซี่ยงไฮ้) ในภาษาจีน
รายงานระบุอีกว่า จีนต้องการสินค้าเกษตรและแร่จากภูมิภาคนี้ เช่น ถั่วเหลือง เนื้อวัว แร่ลิเทียม นอกจากเปรูแล้ว ในอเมริกาใต้ คู่ค้าของจีนยังมีบราซิล ชิลีไปจนถึงอาร์เจนตินาด้วย
จีนลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 45,000 ล้านบาท) เพื่อขยายการค้าและอิทธิพลในทวีปอเมริกาใต้ โดยสีประชุมเอเปคที่เปรู ต่อด้วยการประชุมจี20 ในนครริโอเดอจาเนโรและถือโอกาสนี้เยือนบราซิลอย่างเป็นทางการด้วย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567