กางไทม์ไลน์ FTA ใหม่ 6 ฉบับ ประกาศปิดดีล ไทย-อียู ปี 2568
พาณิชย์กางแผนผลักดัน FTA อย่างน้อย 6 ฉบับ ขยายการค้าและการลงทุน ปักเป้าใหญ่ FTA ไทย -เอฟตา ลงนามช่วงการประชุม WEF เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ มกราคม 2568 พร้อมปิดดีล FTA ไทย-อียู ปีหน้า
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแผนการเจรจาความตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ (FTA) เพื่อผลักดันการค้าของประเทศ ทั้ง FTA ที่ดำเนินการไปแล้ว และที่มีแผนการเจรจาในปี 2568 ล่าสุดมีกรอบการเจรจาที่ปิดดีลสำเร็จไปแล้ว คือ FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ เอฟตา ได้ข้อสรุปเมื่อ 29 พ.ย. 67 ถือเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศในยุโรป
ทั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการเร่งขยายโอกาสการค้าการลงทุนกับประเทศคู่ค้าสำคัญ ผ่านการจัดทำ FTA เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า อำนวยความสะดวกกับภาคธุรกิจ ยกระดับมาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดการลงทุน รวมถึงกระชับ ความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน
โดยขั้นตอนต่อไปจะเสนอผลการเจรจาต่อ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อเตรียมลงนาม FTA ฉบับนี้ ร่วมกับสมาชิกเอฟตา ในช่วงเดือนม.ค.2568 ที่การประชุม WEF ณ ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์
ปิดดีล FTA ไทย-อียู ปี 2568 :
ต่อมาคือ FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ที่ผ่านมาได้ประกาศเปิดเจรจา FTA อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2566 เจรจาแล้ว 4 รอบ ล่าสุดไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมวันที่ 25 - 29 พ.ย. 2567 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งการเจรจาข้อบทคืบหน้าทุกเรื่อง 2 ข้อบทที่ได้ข้อสรุปแล้ว คือ
(1)บทแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ และ
(2)บทความโปร่งใส เพื่อสร้างความโปร่งใส ด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ FTA ฉบับนี้ โดยกำหนดเจรจา FTA ไทย-EU ปีละ 3 ครั้ง ครั้งต่อไป เดือน มี.ค.68 ณ บรัสเซลส์ เบื้องต้นทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังที่จะสรุปผลเจรจาโดยเร็วภายในปี 68
นายพิชัย กล่าวว่า การจัดทำ FTA ไทย-อียู ถือเป็นความตกลงที่มีมาตรฐานต่อยอดจาก FTA ฉบับที่ผ่านมาของไทย ครอบคลุมประเด็นทั้งการเปิดตลาดสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนในระดับสูง และประเด็นการค้าใหม่ ๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขัน และการอุดหนุน รัฐวิสาหกิจ การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของไทย แต่ถือเป็นโอกาสในการยกระดับกฎระเบียบและมาตรฐานในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงต่าง ๆ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงดิจิทัลฯ รวมถึงการหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมท่าทีฝ่ายไทยให้พร้อมให้การเจรจาดำเนินไปได้อย่างราบรื่น และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน เกษตรกร และนักวิชาการ
“กระทรวงพาณิชย์ จะพยายามปิดดีลการเจรจา FTA ไทย-อียู ภายในปี 2568 แต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลากว่าจะมีผลบังคับใช้ เนื่องจาก FTA ฉบับนี้มีทั้งหมด 27 ประเทศ หลังจากเจรจาเสร็จแต่ละประเทศต้องนำเรื่องเข้าสู่รัฐสภาเห็นชอบต่อไป”
ดันต่อ FTA ไทย เกาหลีใต้ ภูฏาน :
ส่วน FTA ไทย-เกาหลีใต้ คาดว่า ลงนามเอกสารขอบเขต (TOR) โดยเริ่มการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (EPA) ไทย-เกาหลีใต้ เมื่อ มี.ค.67 เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเจรจา FTA ในระยะต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาการประชุมเจรจาแล้ว 2 รอบ ล่าสุดเมื่อช่วงเดือน ก.ย. 67 ณ เกาหลีใต้ มีความคืบหน้าและเป็นไปตามแผนการเจรจา เบื้องต้นตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาในปี 68
ขณะที่ FTA ไทย-ภูฏาน ที่ผ่านมาได้มีการประกาศเปิดเจรจา FTA เมื่อ พ.ค. 67 โดยการประชุมเจรจาดำเนินการไปแล้ว 2 รอบ ล่าสุด ก.ย. 67 ณ กรุงเทพฯ ซึ่งจะเน้นการเปิดเสรีการค้าสินค้าเป็นหลัก เบื้องต้นตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาในปี 68
ร่วมมือ FTA อาเซียน-แคนาดา :
พร้อมกันนี้ยังมีกรอบการเจรจาที่เป็นระดับภูมิภาค เช่น FTA อาเซียน-แคนาดา ซึ่งได้ประกาศเปิดเจรจา FTA เมื่อ พ.ย. 64 และเริ่มประชุมเจรจาแล้ว 10 รอบ ล่าสุด 28-29 พ.ย. 67 ณ จาการ์ตา อินโดนีเซีย ซึ่งภาพรวมการเจรจาหลายคณะทำงานคืบหน้า โดยเฉพาะคณะทำงานด้านการค้าบริการ และ คณะทำงานด้านพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า เบื้องต้นตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาภายในปี 68
ปักธงเจรจาความตกลงใหม่ :
ขณะเดียวกันยังมีการเจรจายกระดับความตกลง เช่น ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) และอาเซียน-อินเดีย รวมทั้งเจรจาความตกลงใหม่ ได้แก่ ความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (DEFA) และยังมีการจัดทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่การทำ FTA เช่น ไทย-สหราชอาณาจักร (UK)
ล่าสุดไทย-UK ลงนาม MOU ว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วน ทางการค้าที่แน่นแฟ้นระหว่างกัน (ETP) เมื่อ 18 ก.ย. 67 เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน และเป็นรากฐานการทำ FTA ในอนาคต
รวมถึงความร่วมมือระหว่าง ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) ซึ่งมีแผนจัดทำแผนการดำเนินความร่วมมือ ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ EAEU ซึ่งจะระบุถึงสาขาความร่วมมือที่สองฝ่ายสนใจและเป็นประโยชน์ร่วมกัน
ถกสหรัฐ ต่ออายุโครงการ GSP :
นอกจากนี้ที่ผ่านมา ยังได้ผลักดันประเด็นการต่ออายุโครงการ GSP ด้วยการหารือกับสหรัฐฯ ในหลายโอกาส ทั้งหารือกับ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย และภาคเอกชน ของสหรัฐฯ อาทิ คณะนักธุรกิจสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (USABC) นอกจากนี้ มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ติดตามความคืบหน้า และเข้าพบผู้แทนรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อผลักดันเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด
จากข้อมูลการใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปสหรัฐฯ ไทยมีสินค้าที่ได้สิทธิ GSP ประมาณ 2,660 รายการ มีการใช้สิทธิฯ จริง 579 รายการ โดยปี 67 (ม.ค. - ก.ย.) ไทยมีการส่งออกที่ขอ ใช้สิทธิฯ มูลค่า 2,292.63 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 55.32% ของมูลค่าส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP
โดยมีสินค้าที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการต่ออายุ โครงการ GSP เช่น อาหารปรุงแต่ง (อาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป) ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ กระเป๋า/หีบเดินทางขนาดใหญ่ กรดมะนาว/กรดซิทริก ถุงมือยาง เลนส์แว่นตา และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
อย่างไรก็ตามหากสหรัฐต่อสิทธิ GSP ให้ไทย จะส่งผลดีต่อการค้าไทยอย่างมาก สร้างแต้มต่อให้ผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs เนื่องจากสินค้าส่งออกภายใต้โครงการ GSP ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ทำให้ราคาถูกลง สามารถแข่งขันด้านราคาและได้เปรียบกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าที่ไม่ได้รับสิทธิ GSP
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 13 ธันวาคม 2567