ITIF ชี้ ไทยเป็น "ประเทศพันธมิตรสหรัฐ" ที่เสี่ยงเจอภาษีนำเข้าสูงอันดับ
ITIF องค์กรวิจัยนโยบายสาธารณะในสหรัฐเผย "ดัชนีความเสี่ยงจากทรัมป์" (ITIF’s Trump Risk Index) ชี้ไทยเป็นประเทศพันธมิตรสหรัฐที่มีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับ 2 จากนโยบายขึ้นภาษีนำเข้า หรือมาตรการตอบโต้อื่น ๆ ของรัฐบาลทรัมป์
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม (Information Technology & Innovation Foundation : ITIF) ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยนโยบายสาธารณะที่ไม่แสวงหากำไรของสหรัฐ เผยแพร่รายงานการศึกษาในประเด็นที่ว่าพันธมิตรของสหรัฐรายใดมีแนวโน้มสูงสุดที่จะต้องเผชิญกับภาษีศุลกากรของทรัมป์ และประเทศเหล่านั้นจะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) ของทรัมป์ได้อย่างไร โดยมีผลการศึกษาประเมินระดับความเสี่ยงที่เรียกว่า “ดัชนีความเสี่ยงจากทรัมป์ของ ITIF” (ITIF’s Trump Risk Index) ซึ่งปรากฏว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับที่ 2 จากทั้งหมด 39 ประเทศ/ดินแดน
รายงานดังกล่าวที่ ITIF เผยแพร่เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2024 ศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบที่จะเกิดกับ 39 ประเทศ/ดินแดน ซึ่งถูกระบุว่าเป็น “พันธมิตรของสหรัฐ” เช่น เม็กซิโก ออสเตรีย เยอรมนี แคนาดา ตุรกี สเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ กรีซ โปแลนด์ สหราชอาณาจักร ฟิลิปปินส์ ไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในการประเมินเพื่อจัดทำดัชนี ITIF’s Trump Risk Index นั้น ITIF ใช้ตัวบ่งชี้ 4 ประการ ได้แก่ (1) การใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศ (2) ดุลการค้า (3) มาตรการต่อต้านนโยบายการค้าและเทคโนโลยีของสหรัฐ (4) ความเต็มใจที่จะต่อต้านการล่าเหยื่อทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจของจีน
ไทยมีคะแนนรวม -3.98 ซึ่งคะแนนติดลบมากหมายถึงความเสี่ยงสูง เป็นรองเพียงเม็กซิโกที่มีคะแนนรวม -4.12 เท่านั้น ทั้งนี้ ตัวบ่งชี้ที่ทำให้ไทยมีความเสี่ยงมากที่สุดคือ ดุลการค้าต่อจีดีพี ซึ่งคะแนนตามการประเมินของ ITIF อยู่ที่ -1.89 รองลงมาคือการใช้จ่ายทางการทหารต่อจีดีพี คะแนนอยู่ที่ -1.14 ตามมาด้วยความเข้มงวดในการต่อต้านจีน คะแนนอยู่ที่ -0.48 และการต่อต้านสหรัฐ -0.47
ทั้งนี้ 5 ประเทศที่ดัชนี ITIF’s Trump Risk Index ชี้ว่าเป็นประเทศพันธมิตรของสหรัฐที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะโดนสหรัฐตอบโต้ด้วยภาษีศุลกากรคือ เม็กซิโก ไทย สโลวีเนีย ออสเตรีย และแคนาดา ตามลำดับ โดยรายงานระบุว่าทั้ง 5 ประเทศนี้มีค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้ง 39 ประเทศ/ดินแดน เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนของจีดีพี และทั้ง 5 ประเทศมีเกินดุลการค้าสหรัฐเป็นผล “เกินดุล” โดยเม็กซิโกและไทยเกินดุลการค้าสหรัฐมากที่สุด
ITIF ประเมินมุมมองของรัฐบาลทรัมป์ว่า มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลทรัมป์จะมองว่าทั้ง 5 ประเทศอ่อนข้อต่อจีน และไม่ยอมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่เพื่อต่อต้านการทหาร นโยบายต่างประเทศ และอำนาจทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของจีนที่กำลังเพิ่มขึ้น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 13 ธันวาคม 2567