ไอเอ็มเอฟประเมินเศรษฐกิจไทย
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 คณะเจ้าหน้าที่ของไอเอ็มเอฟ สรุปผลการปรึกษาหารือเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจไทย และข้อเสนอในเชิงนโยบาย ซึ่งผมขอนำมาสรุปดังนี้
1)จีดีพีของไทยคาดการณ์ว่า จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คือ จีดีพีไทยขยายตัวเพียง 1.9% ในปี 2023 เพิ่มขึ้นมาเป็น 2.7% ในปี 2024 นี้ และขยับขึ้นมาขยายตัว 2.9% ในปี 2025 ทั้งนี้ การคาดการณ์ดังกล่าวประเมินว่า มีความไม่แน่นอนสูง (highly uncertain) และความเสี่ยงของการคาดการณ์อยู่ในขาลง (risks tilted to the downside)
2)การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยใน 3 ไตรมาสแรกของปีนี้นั้น จีดีพีขยายตัวประมาณ 2.3% (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) แปลว่า ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าจีดีพีไทย ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะขยายตัวประมาณ 4% ซึ่งดูเสมือนว่า จะเป็นตัวเลขที่สูง แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า จีดีพีในไตรมาส 4 ของปีที่แล้วค่อนข้างต่ำ ที่สำคัญคือ หากการคาดการณ์ว่า จีดีพีปีหน้าจะขยายตัว 2.9% ก็แปลว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจก็จะชะลอตัวลงอีกในปีหน้า ตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป เว้นแต่ว่า จะมีความเปลี่ยนแปลงหรือนโยบายใหม่ๆที่ไม่ได้อยู่ในการคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟ
3)ไอเอ็มเอฟมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปีนี้ มาจากการบริโภคของเอกชน และการท่องเที่ยวเป็นหลัก (ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้คาดว่าจะเทียบเท่ากับ 90% ของปริมาณนักท่องเที่ยวก่อนโควิดระบาด แต่รายจ่ายต่อหัวยังต่ำกว่า)
4)จากไตรมาส 4 เป็นต้นไป เศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งการบริโภคและการลงทุน การบริโภคเอกชนก็จะยังมีแรงอยู่เพราะนโยบายแจกเงินของรัฐ และการลงทุนเอกชนก็น่าจะพลิกฟื้นในปี 2025 รวมทั้งการลงทุนจากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น
5)ความเสี่ยงที่จะทำให้จีดีพีขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ ได้แก่ ความตึงเครียดและความไม่แน่นอนของระบบการค้าโลก (แปลว่ากลัวสหรัฐจะปรับขึ้นภาษีศุลกากร ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามการค้า) ซึ่งจะกระทบการฟื้นตัวของการส่งออกของไทย (การส่งออกจะต้องขยายตัวให้ได้ประมาณ 3% เพราะการส่งออกนั้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 55% ของจีดีพี)
นอกจากนั้น ก็มีความเสี่ยงในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ที่อาจทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น (ประเทศไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 19% ของจีดีพี) ประการสุดท้ายคือ การที่ดอกเบี้ยโลก (โดยเฉพาะดอกเบี้ยสหรัฐ) อาจลดลงช้ากว่าคาดการณ์ แปลว่าสภาวะทางการเงินของโลกอาจตึงตัวเกินคาด
ข้อเสนอแนะนโยบายการคลัง :
ไอเอ็มเอฟ มองว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ ดังนั้นนโยบายการคลังจึงจะยังสมควรกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป แต่รัฐบาลจะต้องเริ่มรัดเข็มขัดมากขึ้น เพื่อลดการขาดทุนงบประมาณตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป เพื่อรักษาวินัยและเพิ่มศักยภาพทางการคลัง โดยการใช้จ่ายที่ช่วยผู้ที่มีรายได้ต่ำและมีหนี้สินมากนั้นควรทำต่อไปอย่างมีประสิทธิผล แต่ก็ควรจะเริ่มจัดสรรงบประมาณไปใช้ในการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพทางด้านการผลิต สรุปคือนโยบายการคลังนั้นควรตึงตัวขึ้น เพื่อเริ่มควบคุมให้การขาดทุนงบประมาณและระดับหนี้สาธารณะลดลง
ข้อเสนอนโยบายการเงิน :
ไอเอ็มเอฟมีท่าทีชัดเจนว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปอีก โดยเขียนสรุปอย่างชัดเจนมากกว่าปกติดังนี้
“The Mission welcomes the BOT’s decision to cut the policy rate by 25 bps in October. A further reduction in the policy rate would support the ongoing recovery, while translating into improvements in borrower’s debt-servicing capacity with little risk of additional leverage amid tightened lending”
แปลสรุปว่า ควรลดดอกเบี้ยลงไปอีกเพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (ตอนนี้นโยบายการเงินยังสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ไม่เพียงพอ) การลดดอกเบี้ยจะช่วยลดภาระของลูกหนี้และจะไม่เพิ่มความเสี่ยงที่ลูกหนี้จะกู้เพิ่ม เพราะสถาบันการเงินเข้มงวดกับการปล่อยกู้ใหม่เป็นเกณฑ์อยู่แล้ว
ไอเอ็มเอฟไม่ได้แสดงความเป็นห่วงว่า เงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นส่วนหนึ่ง เพราะปัจจุบันเงินเฟ้อไทยต่ำมากและจะเพิ่มเข้ากรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อ (คือประมาณ 1%) ตอนปลายปีนี้ แต่ก็เสนอแนะให้ติดตามดูข้อมูลและพร้อมจะปรับนโยบายหากจำเป็น แต่ในความเห็นของผมนั้น ความเสี่ยงของเงินเฟ้อจะเอนเอียงไปในด้านต่ำมากกว่าสูง เพราะนโยบายกีดกันการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยเฉพาะกับจีนนั้น ยิ่งจะทำให้จีนต้องตัดราคาและหาตลาดส่งออกอื่นๆมาทดแทนตลาดสหรัฐฯ
ในระยะยาว ประเทศไทยควรเร่งรีบการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในด้านต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการลดลงอย่างต่อเนื่องของศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (แปลว่าหากไม่ปรับโครงสร้าง จีดีพี ก็จะโตช้าลงไปอีก) คือการส่งเสริมการเปิดเศรษฐกิจและการแข่งขัน ลดการผูกขาดภายในประเทศ การพัฒนาสินค้าส่งออก การเพิ่มผลิตภัณฑ์ของแรงงาน การเปิดเสรีภาพบริการและธรรมาภิบาลที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พูดกันมาบ่อยครั้งแล้ว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 16 ธันวาคม 2567