เกาะติดข่าวเศรษฐกิจสุดปัง… รับปีงูเล็ก 2568
ก้าวเข้าสู่ปี 2568 ตรงกับปีนักษัตรมะเส็ง หรือปีงูเล็ก ซึ่งเป็นอีกปีที่ปัจจัยเศรษฐกิจจากภายนอกประเทศ ยังรุมเร้า
ไม่ว่าจะเป็นการกลับมาของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ที่หลายฝ่ายคาดว่านโยบายจะทำให้เกิดการกีดกันและสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ขณะที่ปัญหาของภูมิรัฐศาสตร์ยังมีอยู่ต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยในประเทศยังวนลูปเดิม คือ หนี้ครัวเรือนที่สูงลิ่ว กดกำลังซื้อกดการจับจ่ายใช้สอย แต่คาดว่าจะไม่หนักเท่าปีที่ผ่านมา เพราะมีเม็ดเงินจากการลงทุนและบริโภคของภาครัฐ ผ่านงบประมาณประจำปี 2568 ที่คอยพยุงอยู่
แจกเงินหมื่นสูงอายุ-อีซี่ อี-รีซีท 2.0 :
งานสำคัญของกระทรวงการคลัง ในปี 2568 ประเดิมด้วยชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้อนรับเทศกาลปีใหม่ ยาวถึงเทศกาลตรุษจีน ได้แก่ โครงการอีซี่ อี-รีซีท2.0 เป็นมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยบุคคลธรรมดาผู้มีเงินได้สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ 2568 ได้สูงสุด 50,000 บาท
โดยนำ e-Tax Invoice เต็มรูปแบบ และ e-Receipt มาใช้ลดหย่อนภาษีสำหรับปีภาษี 2568 ได้ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับสินค้าและบริการทั่วไป ยกเว้น สุรา ยาสูบ น้ำมัน ก๊าซ รถยนต์และจักรยานยนต์ ค่าสาธารณูปโภค ค่าเบี้ยประกัน ค่าบริการนำเที่ยว/ค่าที่พัก และลดหย่อนภาษีได้เพิ่มอีกไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้า OTOP สินค้าหรือบริการของวิสาหกิจชุมชน และสินค้าหรือบริการของวิสาหกิจเพื่อสังคม
ตามมาด้วยโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ได้ลงทะเบียนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ผ่านแอพพลิเคชั่นทางรัฐ จำนวน 4 ล้านคน จะได้รับเงินจำนวน 10,000 บาท ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน นับว่าเป็นโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 2 คาดว่าจะเป็นช่วงปลายเดือนมกราคม หรือก่อนเทศกาลตรุษจีน 2568 ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3 กลุ่มคนทั่วไปนั้น ยังไม่มีรายละเอียด แต่เบื้องต้นจะแจกเป็นเงินบาทรูปแบบดิจิทัล ใช้จ่ายผ่านวอลเล็ต โดยรัฐบาลคาดว่าจะเปิดทดสอบระบบวอลเล็ตราวเดือนกุมภาพันธ์ 2568 และเมื่อระบบเสถียรก็จะเปิดให้ใช้จ่ายจริงต่อไป อย่างไรก็ดีวงเงินสำหรับเฟส 3 มีอยู่ประมาณ 1.4-1.5 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีโครงการแก้ไขหนี้สิน อาทิ โครงการคุณสู้ เราช่วย เข้าไปช่วยเรื่อง หนี้บ้าน หนี้รถยนต์ และหนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งคลังมีแผนว่าจะขยายโครงการนี้เป็นระยะถัดไป ซึ่งอาจจะดูในเรื่องการเติมเงินสินเชื่อ และโครงการพักหนี้เกษตรกร เฟส 2 ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งจะเป็นอีกส่วนที่เข้ามาบรรเทาทุกข์ ลดความกดดันด้านค่าใช้จ่าย ซึ่งผลจากโครงการนี้จะช่วยให้การบริโภคภายในประเทศช่วงปี 2568 ดูดีขึ้น
จากมาตรการดังกล่าว “ภาคธุรกิจ” สะท้อนว่าน่าจะลดปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ที่บั่นทอนเศรษฐกิจไทยให้ซึมลึกมานานหลายปีได้ และเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่ถือเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทย
ด้านข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) มองว่าเป็นโครงการที่ดีและจูงใจให้คนเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น จากสูตรเดิมไม่มีพักดอกเบี้ย มีแต่พักเงินต้น จึงคาดการณ์ในปี 2568 สถานการณ์หนี้เสียอาจจะปรับตัวลดลงจากสิ้นปี 2567 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท โดย ณ ไตรมาส 3/2567 ตัวเลขหนี้เสียบ้านอยู่ที่ 232,536 ล้านบาท หนี้รถยนต์ 254,710 ล้านบาท หนี้บัตรเครดิตกว่า 69,153 ล้านบาท หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 283,995 ล้านบาท โดยเครดิตบูโรมองว่าหนี้เสียทุกประเภทยังน่าห่วง โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
ขณะเดียวกันในปี 2568 คลังยังผลักดันหลายกฎหมายที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจรอบด้าน อาทิ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ.2567 ที่จะช่วยในเรื่องการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลขนาดใหญ่ เพื่อความเท่าเทียมและเป็นมาตรฐานสากล รวมทั้งร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. … หรือ พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ พ.ร.บ.ศูนย์กลางทางการเงิน จะช่วยดึงดูดด้านการลงทุน รวมไปถึงการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. (ฉบับที่…) เพื่อดำเนินการในโครงการ “สลากออมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ หรือหวยเกษียณ” จะเป็นทางเลือกใหม่ให้คนไทยเก็บออม
ทรัมป์2.0ปัจจัยป่วนการค้าโลก :
ส่วนการกลับมานั่งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐรอบสองของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ กำหนดแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคมนี้ เรียกสั้นๆ ว่า “นโยบายทรัมป์ 2.0” ถือเป็นภาระหนักอึ้ง สำหรับกระทรวงพาณิชย์ ในปี 2568 ที่เป็นความกดดัน และตัวแปรที่ท้าทาย พร้อมทั้งเป็นโอกาสทางการค้า
นักวิชาการอย่าง นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน ระบุว่า ท่ามกลางนโยบายทรัมป์2.0 และปัจจัยเสี่ยงปี 2568 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.4% ลดลงจากปี 2567 คาดขยายตัว 2.7% และเป็นอัตราต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียน ที่คาดว่าเติบโต 4.7% ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังโตต่ำกว่า 3% ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 นับตั้งแต่ปี 2562 เสมือนว่าไทยยังเป็นผู้ป่วยด้านเศรษฐกิจของอาเซียน จากดัชนีชี้ต่อการขยายตัว คือ อัตราเติบโตเป็นอันดับ 9 ของอาเซียน การบริโภคไทยคาดขยายตัว 2.3% การลงทุนขยายตัว 3.7% การส่งออกขยายตัว 2.2% อีกทั้งยังเจอปัญหาสะสมข้ามปีจากปีก่อนหน้า ตั้งแต่หนี้ครัวเรือน อัตราดอกเบี้ย เศรษฐกิจจีนโตต่ำกว่า 5% ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์
หากทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าจากไทย 10% เศรษฐกิจไทยจะลดลง 0.3-0.5% เหลือขยายตัวได้ 1.9-2.2% ส่วนการส่งออกไทยภาพรวมโตได้ 1.9% เพราะการส่งออกไปสหรัฐลดลง 5-10% รายได้จากการส่งออกหายไป 1-1.90 แสนล้านบาท และการนำเข้าภาพรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4% เพราะนโยบายทรัมป์ 2.0 จะบังคับให้ไทยต้องนำเข้าสินค้าสหรัฐเพิ่มขึ้น จนไทยได้ดุลการค้าสหรัฐลดลงเหลือ 27,500 ล้านเหรียญ จากเกือบ 30,000 ล้านเหรียญ ซึ่งลดลงครั้งแรกในรอบ 4 ปี
นายอัทธ์ระบุด้วยว่า ปี 2568 นี้ ชะตากรรมของเศรษฐกิจไทยภายใต้แรงกดดันขั้นวิกฤตนั้น จีดีพีไทยจะโตต่ำกว่าปี 2567 เอสเอ็มอีไทยปิดตัวมากขึ้น หรือถูกเทกโอเวอร์จากนักลงทุนต่างชาติ ที่สำคัญยังขาดแนวทางที่จะแก้ปัญหานโยบายทรัมป์ 2.0 ดังนั้น ปี 2568 จึงไม่ใช่เวลาเหมาะสมที่รัฐบาลจะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) รวมถึงการปรับค่าแรงงานที่พรวดจนเกินไป จะทำให้ราคาสินค้าที่อาจสูงขึ้นจากปัจจัยต้นทุน ดังนั้นยังถือเป็นปีที่เหนื่อยและวิกฤตซ้อนวิกฤตอีกปี
พลังงาน68ลดค่าไฟ-ตรึงแอลพีจี :
ด้านกระทรวงพลังงาน ปี 2568 ภายใต้การบริหารของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดวันที่ 1 มกราคม 2568 ด้วยข่าวดีลดค่าไฟฟ้าจาก 4.18 บาทต่อหน่วย (งวดกันยายน-ธันวาคม 2567) เหลือ 4.15 บาทต่อหน่วย (งวดมกราคม-เมษายน 2568) พร้อมตรึงราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ราคา 423 บาทต่อถังขนาด 15 กก. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568 ขณะที่ราคาดีเซลมีการต่ออายุตรึงราคาไม่เกิน 33 บาทต่อลิตรในปี 2568 ไม่มีกำหนด ยกเว้นราคาดีเซลตลาดโลกพุ่งเกิน 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลจึงจะพิจารณาราคาที่เหมาะสมอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามปี 2568 มีประเด็นร้อนที่ต้องจับตาคือ มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีมติชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ.2567 ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับปี 2565-2573 ปริมาณรวม 3,668.5 เมกะวัตต์ หลังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว 2,145 เมกะวัตต์
เนื่องจากถูกตั้งคำถามจากสังคมเรื่องความถูกต้องของกระบวนการ และวิธีการดำเนินงานรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว โดย กพช.จะหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็นข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของ กพช. และให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กพช.พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในเรื่องดังกล่าว ผลสรุปจะเป็นอย่างไร จะเกิดการฟ้องร้องจากภาคเอกชนหรือไม่
กระทรวงอุตสาหกรรมสปีด4เรื่องหลักปี’68 ซ
ปี 2568 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศเดินหน้า 4 ภารกิจหลักเพื่อปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย
1)ปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม จัดทำร่างกฎหมาย “ร่างพระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรม พ.ศ. …” บริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ ครอบคลุมกากอุตสาหกรรมจากสถานประกอบการอุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และซากรถยนต์ จัดตั้งกองทุนที่ชื่อว่า กองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน
2)ลุยมาตรการ “รับซื้อใบอ้อย” เป็นครั้งแรก เพิ่มราคารับซื้อใบและยอดอ้อย 300 บาทต่อตันใบและยอดอ้อย หรือเท่ากับ 51 บาทต่อตันอ้อย ลดการเผาอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมออกคำสั่งให้โรงงานนํ้าตาล 57 โรงทั่วประเทศ หยุดรับอ้อย 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2567 จนถึงวันที่ 2 มกราคม 2568 คืนอากาศบริสุทธิ์ให้ทุกท่านเป็นของขวัญในช่วงปีใหม่
3)ใช้เอไอตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ตั้ง “คณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม (INDX)” โดยมีเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานกรรมการ โดยระบบ AI: Artificial Intelligence จะเพิ่มการตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานทางออนไลน์ เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 รายการ/วันจากเดิมคนตรวจ 1,600 รายการ/วัน และ
4)จัดทำแพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ติดตามสถานะคำขอในด้านต่างๆ มีคณะอนุกรรมการพัฒนาแพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนออนไลน์เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมดูแล ผสานเทคโนโลยี TRAFFY FONDUE
ดัน 5 Grandหนุนนทท.ทะลุ 40 ล้านคน :
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ปี 2568 อีกเครื่องยนต์สำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้เพิ่มความเป๊ะปัง โดย นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประกาศเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกีฬาในปี 2568 ภายใต้แนวคิด “Amazing Thailand Grand Tourism and Sports Year 2025” โดยตั้งเป้าสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวรวมกว่า 3.5 ล้านล้านบาท ภายใต้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 40 ล้านคนเป็นครั้งแรก จากปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยประมาณ 39.5 ล้านคน
ส่วนนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศนั้น เริ่มด้วยโครงการเราเที่ยวด้วยกัน หรือเที่ยวคนละครึ่ง ที่รัฐบาลจะสมทบเงินเดินทางท่องเที่ยวให้ 50% ประชาชนจ่ายเองอีก 50% มากกว่าโครงการเดิมที่เคยให้ประชาชนจ่ายเอง 40% รัฐบาลสมทบให้ 60% ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีความชัดเจนออกมาภายในช่วงเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้ทันใช้ในเดือนมีนาคมเป็นต้นไป เป็นช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) แล้ว ในส่วนของกีฬา ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ วันที่ 9-20 ธันวาคม 2568 และการแข่งขันวอลเลย์บอล FIVB Womens World Championships 2025 วันที่ 22 สิงหาคม-7 กันยายน 2568
ด้าน น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุ แคมเปญใหญ่ Amazing Thailand Grand Tourism & Sports Year 2025 ภายใต้แนวคิด 5 Grand ได้แก่
1)Grand Festivity จัดกิจกรรมใหญ่ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นจุดขายหลักในการดึงนักท่องเที่ยว
2)Grand Moment นำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวที่มอบประสบการณ์ใหม่ๆ
3)Grand Privilege รวมช้อปปิ้ง แพคเกจทัวร์ ตั๋วเครื่องบิน ช่องทางการจ่ายเงินที่สะดวกไร้รอยต่อ ล่าสุด ททท.ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการชำระเงินแบบไร้เงินสด หรือ “Cashless Payment” ผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Code) ซึ่งรองรับประมาณ 7-8 ประเทศแล้ว และจะขยายต่อไปอีก
4)Grand Invitation เชิญบุคคลระดับโลกมาเมืองไทยตลอดทั้งปี อาทิ นักร้อง นักดนตรีระดับโลก นักกีฬาระดับตำนาน นักเขียนรางวัลโนเบล มาท่